ECONOMICS

ผลวิจัย ชี้ บริษัทจดทะเบียนกว่า 88% พร้อมลงทุนเพิ่ม
POSTED ON 09/10/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงผลวิจัย CEO Survey ของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ที่ร่วมกับ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จัดทำขึ้น พบว่า ซีอีโอ 66% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 1.5% และมี 88% คาดว่าจะลงทุนเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยวางแผนขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์หรือใช้กำไรสะสมมาลงทุน

 

สำหรับการปฏิรูปประเทศ มองว่า ควรเร่งดำเนินการในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมืองและระบบข้าราชการ และนโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐและหนี้สาธารณะ

 

"ทางสถาบันฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาตัวชี้วัดตลาดทุนอีกหลายตัว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน รวมถึงผู้วางแผนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเผยแพร่ได้เป็นลำดับในช่วงปี 2558" นายภากร กล่าว

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 ยังฟื้นตัวได้ไม่เท่าที่ควร ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจยังคงมีทั้งดีและไม่ดีขัดแย้งกันเอง โดยลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและเข้าลงทุนต่อได้ อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าหรู แต่ในส่วนของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต้องนำไปชำระหนี้ที่ค้างไว้

 

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจในต่างจังหวัดยังไม่ดีมากนัก ยังมีความกังวลในด้านกำลังซื้ออยู่ โดยสะท้อนจากการก่ออาชญากรรมที่ยังมีต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐควรกระตุ้นนโยบายการคลัง เพราะยังมีปัจจัยลบในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงถึง 82-83% กำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งการขาดแคลนแรงงาน และการเมืองที่ยังมีส่วนกระทบเล็กน้อย เพราะยังเป็นเรื่องที่อ่อนไหว

 

ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในภาวะเงินฝืด มาจากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี และใกล้สิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออก และอาจจะทำให้สภาพคล่องในระบบหายไป ส่วนปัจจัยภายในประเทศคือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐ แม้โครงการอนุมัติแล้ว แต่เงินยังไม่เข้า และยังมีงบค้างท่อของปีนี้อีกจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องเร่งเบิกจ่ายเงินสู่รากหญ้าด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน เพราะจากที่ผ่านมาถึงแม้จะเจอผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม ยังมีผลประกอบการที่ดีได้ อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่น ไม่ห่วงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากมองว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็มีนโยบายที่สนับสนุนต่อต่างประเทศด้วย