ECONOMICS

อุตฯ เห็นพ้อง สวท. ตั้ง "สภาเอสเอ็มอี"
POSTED ON 07/10/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - "นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด" ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สวท.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ว่า ในการเข้าพบครั้งนี้เพื่อจะหารือในการตั้ง "สภาเอสเอ็มอี" โดยในขณะนี้ได้จัดตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีพระราชบัญญัติรองรับ จึงได้เข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม ขอให้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมก็เห็นชอบในเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอีนี้ หลังจากนี้ สวท. ก็จะผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

 

ด้าน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นด้วยกับการตั้งสภาเอสเอ็มอี แต่การออก พ.ร.บ.จะต้องทำประชาพิจารณ์ และไม่ขัดกับกฎหมายเดิมก่อนหน้านี้ ซึ่งกฎหมายการตั้งสภาเอสเอ็มอีจะมีรูปแบบในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแนวราบ รวมกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดทุกสาขา แต่ในกฎหมายอื่นๆ จะมีรูปแบบเป็นแนวตั้ง โดยแต่ละหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแยกเป็นกลุ่มต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ส.อ.ท. ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดูแลเอสเอ็มอีในธุรกิจการค้าและบริการ เป็นต้น

 

"ทั้งนี้ ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าการออก พ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอี จะไปขัดแย้งกับกฎหมายฉบับอื่นหรือไม่ หลังจากนี้จะส่งเรื่องไปให้ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ว่าที่ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม เข้าไปดูแลเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย หรือ สวท. เกิดจากการรวมตัวของ ภาคีเครือข่ายสมาคม ชมรมมูลนิธิ กลุ่มอุตสาหกรรม สหกรณ์ และผู้ประกอบการโอท็อป ซึ่งล่าสุดเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมกับ สวท. แล้ว 12 กลุ่ม มีสมาชิกรวมกันกว่า 2.19 แสนราย ทั้งนี้ การจัดตั้ง สวท. ก็เพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการรวบรวมปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเอสเอ็มอี ให้หน่วยงานรัฐได้นำไปพัฒนาแนวทางความช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอี

 

"ขอยืนยันว่า สวท. ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เนื่องจาก สวท. ประกอบด้วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกสาขาอาชีพ โดยไม่จำกัดทุนจดทะเบียน ตั้งแต่รายย่อย เช่น ร้านเสริมสวย ร้านค้าห้องแถว ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง ดังนั้น จึงทำให้ สวท. เป็นกระบอกเสียงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อย่างแท้จริง" นางเพ็ญทิพย์ กล่าว

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีกว่า 2.79 ล้านราย แต่มีเอสเอ็มอีที่เข้าระบบเพียง 3.9 แสนราย มีอีกกว่า 2.4 ล้านราย ที่อยู่นอกระบบ หากนำเอสเอ็มอีกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบได้ ก็จะสร้างรายได้เข้าประเทศทั้งในรูปแบบภาษี และรายได้อื่นๆ กว่า 3 หมื่นล้านบาท การตั้ง สวท. ก็เพื่อช่วยดึงกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างเต็มที่ และเมื่อธุรกิจเติบโต เข้มแข็ง ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นจำนวนมาก