ECONOMICS

ธปท. หั่นเป้าส่งออกปีนี้โต 0% แต่คง GDP เท่าเดิม 1.5%
POSTED ON 29/09/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวเท่าเดิมที่ 1.5% ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่คาด หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ทำให้เกิดนโยบายภาครัฐและการใช้จ่ายภาครัฐมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวกลับมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้จีดีพีในปีหน้าขยายตัว 4.8% ต่อปี จากคาดการณ์เดิม 5.5% ต่อปี

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาปรับลดอัตราการเติบโตการส่งออกในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 0% ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 3% ต่อปี ส่วนปีหน้าคาดว่าการส่งออกโต 4% จากเดิมที่คาด 6% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้าจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น

 

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน และทีมเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจจะมีการหารือเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือน จะมีการประกาศแผนในการประชุม ครม. โดยมาตรการสำคัญคือ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อปี 2557 ที่เหลือเป็นวงเงินที่สูง รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบปี 2558 โดยจะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายรายไตรมาส เป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจในปี 2558 ขยายตัวแบบมั่นคงยั่งยืน

 

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ พิจารณาในส่วนงบประมาณที่เข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณเก่าวงเงินประมาณ 250,000 ล้านบาท ทั้งงบประมาณของปี 57 ยังเป็นงบประมาณค้างท่อของหน่วยราชการต่าง ๆ วงเงิน 200,000 ล้านบาท หากหน่วยงานเดิมไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ก็จะนำเงินไปให้กับหน่วยงานที่มีความพร้อมมากกว่า และงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งที่เบิกจ่ายไม่ทันในช่วงก่อนหน้า วงเงิน 15,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีเงินก่อนปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ และการจัดซื้อจัดจ้างที่ภาครัฐได้ราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณหลักหลายพันล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโครงการที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก็เดินหน้าได้ทันที

 

ด้าน นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2557 นั้น ในวันที่ 18-21 ต.ค.2557 กรมฯ จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ให้มารับฟังนโยบายจาก รมว.พาณิชย์ และร่วมกันประเมินสถานการณ์การส่งออกที่เหลือของปีนี้ และประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในปี 2558 ด้วย รวมทั้งร่วมกันจัดทำมาตรการส่งเสริม และผลักดันการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน โดยการวางกลยุทธ์และเป้าหมายแต่ตลาดส่งออกจะให้ทูตพาณิชย์ทำแผน

 

ในเบื้องต้นจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทางการค้าการลงทุนและภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และตัวแทนกลุ่มสินค้าจากสมาคมต่างๆ  เพื่อร่วมกันระดมสมองถึงสถานการณ์ แนวโน้มปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการส่งออก โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศเกิดขึ้นหลายประเด็นและไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกรายภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้าย (ต.ค.- ธ.ค.2557)

 

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ 8 ข้อในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.พาณิชย์ เพื่อนำมาเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย และผลักดันให้การส่งออกมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ดี โดยกรมฯ จะให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลและรูปแบบการค้าสมัยใหม่อื่นๆ มาสนับสนุนการส่งออก รวมถึงจะมีการใช้ยุทธศาสตร์อื่น เช่น การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยจะผลักดันให้ผู้ส่งออกเข้าไปทำตลาดในประเทศที่ทำเอฟทีเอและอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งมีข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนที่เจาะลึก และยังมีศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียนถึง 9 แห่ง ที่จะคอยให้บริการ รวมถึงยังจะมีการเพิ่มกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าไทย ทั้งการจัดไทยแลนด์ วีค การจัดคณะผู้แทนการค้าไปทำตลาดแบบเจาะจง และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

 

ขณะที่การสร้างภาพลักษณ์ประเทศก็ยังถือเป็นว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญในการส่งออกเช่นกัน เพราะสามารถผลักดันให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการไทยมีความเชื่อมั่น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกอบการรุกตลาดส่งออกในหลายช่องทางก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการส่งออกได้เป็นอย่างดี