ECONOMICS

เร่งเคลียร์สหรัฐฯ ขอปลด Tier3 ลุ้นผล ต.ค.นี้
POSTED ON 09/09/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - น.ส.ปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จัดให้สินค้าไทย 5 รายการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับอย่างเลวร้าย ว่าล่าสุด กระทรวงแรงงานของไทยอยู่ระหว่างร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอปลดสินค้าดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะประกาศผลการพิจารณาต้นเดือนตุลาคม 2557 นี้ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถปลดออกได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหลายประเทศ เช่น บราซิล กว่าจะหลุดออกจากบัญชีนี้ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี แต่ไทยเพิ่งดำเนินการเรื่องนี้เป็นปีแรก

 

“กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการออกประกาศใหม่เป็นทุกๆ 2 ปี หรือจะประกาศอีกครั้งเดือนตุลาคม 2559 การที่สินค้าไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดังกล่าว ก็ไม่มีผลกระทบให้หน่วยงานราชการสหรัฐฯ ต้องยกเลิกการนำเข้าจากไทยแน่นอน” น.ส.ปานจิตต์  กล่าว

 

ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาแรงงานไทย ภายหลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ในระดับ 3 (Tier3) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 (TIP Report) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เพราะไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานของประเทศไทย เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหา ก่อนที่จะยื่นให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ พิจารณาเดือนมีนาคม 2558 ใช้ประกอบการพิจารณาปลดไทยออกจากบัญชี Tier 3 ในการเผยแพร่ TIP Report ประจำปี 2558 ประมาณเดือนมิถุนายน 2558

 

ทั้งนี้ ไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างมาก เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คชส.) เป็นห่วงเรื่องนี้และให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นระบบมากขึ้นและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้ายในกิจการ มีการดูแลแรงงานประมงนอกน่านน้ำ จดทะเบียนเรือประมงอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีมาตรการป้องกัน ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดและช่วยเหลือแรงงานอย่างเข้มข้น มีการเผยแพร่ข้อมูลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย มีมาตรฐานในการใช้แรงงานมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ดำเนินการด้านมาตรฐานแรงงานตามที่ลูกค้าในประเทศต่างๆ กำหนดอยู่แล้ว เพราะหากไม่ดำเนินการตามที่ลูกค้ากำหนดก็จะไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ และไทยมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้หลุดจาก Tier 3 แต่เพื่อยืนยันว่าไทยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการค้ามนุษย์ อย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะผู้ประกอบการที่จะส่งออกไปประเทศต่างๆ ต้องมีมาตรฐานแรงงานตามที่ลูกค้าต่างประเทศกำหนดอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ลูกค้าบางประเทศชะลอการนำเข้าอาหารทะเลจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้คำสั่งซื้อเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยอยู่ในบัญชี Tier 3 ตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการตอบโต้ไทยด้านอื่นๆ ได้ เช่น ตัดความช่วยเหลือด้านการศึกษา หรือวัฒนธรรม เป็นต้น ภายใน 90 วัน ภายหลังจากการเผยแพร่รายงาน TIP Report ไปแล้ว และจะครบกำหนด 90 วันประมาณเดือนตุลาคม 2557 นี้ ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ กำลังติดตามการออกมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป