ECONOMICS

ยอดขอตั้งโรงงานใหม่ 7 เดือนแรกปีนี้ ทะลุกว่า 2,000 แห่ง
POSTED ON 07/08/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวถึงการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) ทั่วประเทศผ่านหน่วยงานอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.2557) มีทั้งสิ้น 2,212 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 211,314 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 60,692 คนซึ่งมีทิศทางลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการอนุญาตรง. 4 ที่ 2,339 โรงงาน เงินลงทุน 194,535 ล้านบาท

 

“ช่วงต้นปีแรกการอนุญาต รง.4 มีค่อนข้างต่ำ เพราะขณะนั้นมีปัญหาด้านการเมือง แต่หลังจากที่ คสช.เข้ามาและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับลดขั้นตอนการพิจารณา รง. 4 ให้เหลือ 30 วัน ตั้งแต่ 1 ก.ค.2557 ตามนโยบาย คสช.คาดว่าการอนุญาต รง.4 ไตรมาส 4 และปี 2558 จะมีมากขึ้น หลังจากที่การเมืองมีเสถียรภาพ อีกทั้งการมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต รง.4 ที่รวดเร็วขึ้น ล้วนส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น” นายพสุ กล่าว

 

ทั้งนี้ การอนุญาตโรงงานในกรอบใหม่ 30 วันคาดว่าจะเห็นชัดเจนในเดือน ส.ค.2557 นี้ ซึ่งยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้จริงนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง โดยการอนุญาตโรงงานที่ใช้เวลาเร็วขึ้นได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดและกำกับอย่างเข้มงวด ซึ่งสะท้อนจากยอดคำร้องเรียน 10 เดือน (1 ต.ค.2556 ถึง 31 ก.ค.2557) มีการร้องเรียน 202 เรื่องลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดร้องเรียน 274 เรื่อง โดยเรื่องหลักๆ ที่มีการร้องเรียน ได้แก่ (1) กลิ่น (2) ฝุ่นละออง และ (3) น้ำเสีย ส่วนจำนวนเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น 115 ครั้งลดลง 3% โดยเหตุฉุกเฉินคือ ไฟไหม้ 66% ระเบิด 10% และอุบัติเหตุ 8%

 

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึง โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ Zoning (โซนนิ่ง) ว่าเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามที่จะกำหนดการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2558) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ได้มีการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning Planning) ที่มีอยู่เดิมอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ภายใต้โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมนี้ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ (1) การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค และ (2) การศึกษายุทธศาสตร์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ 1 การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคที่เป็นอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 1 สาขา

 

โดยได้คัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงพื้นที่ และเชิงอุตสาหกรรมตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะนำมาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์ แนวทาง และมาตรการในการผลักดันการพัฒนา พื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคของประเทศไทย

 

ส่วนในกิจกรรมที่ 2 การศึกษากลยุทธ์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรม จำนวน 2 จังหวัด ใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลาง

 

โดยผลการคัดเลือกจังหวัดเป้าหมายในภาคเหนือได้แก่ จ.เชียงใหม่ และภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 2 จังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมสู่จังหวัดศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม

 

ดังนั้น การเร่งพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคอันจะส่งผลให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมและความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาด้านอื่นๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้พื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแสวงหาประโยชน์ด้านความเชื่อมโยงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ.2558 ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย