ECONOMICS

แก้กฎหมายเปิดทางเอกชนแข่งขัน ห้าม 10 รัฐวิสาหกิจผูกขาด
POSTED ON 28/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทน ปตท.ได้เข้าหารือกับกรมการค้าภายใน สอบถามถึงกรณีที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย จากเดิมได้รับการยกเว้น ซึ่ง ปตท.ได้ขอรายละเอียดการแก้ไขกฎหมาย พร้อมทั้งชี้แจงว่า การให้ไปอยู่ภายใต้กฎหมายอาจทำให้ ปตท.ทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนไม่ได้ เพราะการบริหารงานต้องผ่านหลายขั้นตอน อาจทำให้การตัดสินใจต่างๆ ล่าช้ากว่าภาคเอกชนและกระทบต่อการประกอบธุรกิจ

 

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้รับทราบ และได้ชี้แจงไปว่า ขณะนี้กฎหมายฉบับแก้ไขอยู่ระหว่างการรอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบจะมีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดประเภทรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน และบางบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประมาณ 10 แห่ง เช่น บมจ.ปตท., บมจ.การบินไทย, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บมจ. อสมท, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

 

สาเหตุที่ต้องแก้ไขให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน และมีผลกำไรสูง ซึ่งบางธุรกิจ ภาคเอกชนที่เป็นคู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้ และล้มหายตายจากไป ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีอำนาจเหนือตลาด และผูกขาดทางธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้คู่แข่งที่เป็นภาคเอกชนสามารถทำธุรกิจอยู่รอดได้

 

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ ได้รับนโยบายจาก น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ในประเด็นให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า แยกออกมาเป็นองค์กรอิสระ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในต่างประเทศเป็นองค์กรอิสระหมดแล้ว เพราะทำให้การทำงานมีความคล่องตัว เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ ศึกษากรณีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นตัวอย่าง