ECONOMICS

สคร.เร่งรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนขนาดใหญ่อัดฉีดเงินเข้าระบบ
POSTED ON 28/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา สคร.ได้ประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และมีผลการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังไม่สามารถทำการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าได้ โดยได้เชิญผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้น 7 แห่งเข้ามาหารือ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

 

จากการประชุมคาดว่า สัดส่วนงบลงทุน 55% ของงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด จะสามารถผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 เพื่อเป็นการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการและขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส

 

นอกจากนี้ ในส่วนรัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 39 แห่ง สคร. ยังคงให้ความสำคัญและคาดหวังให้การเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง โดย สคร. ได้มีหนังสือแจ้งรัฐวิสาหกิจ เพื่อขอความร่วมมือในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 ต่อไป

 

สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุน ณ เดือนมิถุนายน 2557 (รอบ 9 เดือน สำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ และรอบ 6 เดือน สำหรับรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน) รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 107,071 ล้านบาท คิดเป็น 65.8% ของแผนเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม และ 30.9% ของแผนทั้งปี

 

นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ คสช.มีคำสั่งให้ สคร.ทำการตรวจสอบโครงการลงทุนวงเงินเกิน 100 ล้านบาท และการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท นั้นขณะนี้ สคร.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การส่งข้อมูล เพื่อให้รัฐวิสาหกิจรายงาน พร้อมทั้งได้แจ้งเวียนให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่ที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท เมื่อโครงการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ควบคู่กับการขออนุมัติการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หากต้องขออนุมัติ)

 

2. การทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมิใช่การดำเนินกิจการทั่วไปหรือเพื่อการดำเนินการตามปกติของรัฐวิสาหกิจซึ่งทำให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเมื่อผู้มีอำนาจอนุมัติการทำธุรกรรมนั้นๆ พิจารณาอนุมัติแล้ว

 

ทั้งนี้ให้รัฐวิสาหกิจรายงานข้อมูลกับ คสช. ผ่าน สคร. ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปโดยให้เริ่มรายงานข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป