ECONOMICS

หากถูกตัด GSP ไทยจะสูญเงินกว่า 5.5 พันล้านบาท
POSTED ON 14/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้ประเมินผลกระทบภาพรวมต่อผู้ส่งออกไทยกรณีถูกสหภาพยุโรป (EU) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ที่ยุโรปให้กับไทยได้สิ้นสุดลงในปี 2557 ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป โดยได้ประเมินผลกระทบเป็น 3 ด้านหลัก

 

ผลกระทบที่ 1 ด้านภาษีการนำเข้า : จากการถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2557-2558 จะทำให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับราว 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบ 3.2% ของมูลค่าการส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด แต่คิดเป็นเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกรวมไปยังทุกประเทศคู่ค้าของไทย

 

ผลกระทบที่ 2  ด้านคู่แข่ง : กลุ่ม EU มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยมากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งของไทย ยังรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และกลุ่มสอง ประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว แต่ยังได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีจากข้อตกลง FTA กับ EU ได้แก่ มาเลเซีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้

 

ผลกระทบที่ 3 ด้านนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต : การที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ได้ยังได้รับสิทธิ GSP อยู่

 

ทั้งนี้ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เพื่อลดต้นทุนค่าแรงและใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยัง EU

 

ทางด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าในตลาดอียูระหว่างการปรับรูปแบบการทำตลาด และเจรจาการขอปรับราคาสินค้าเฉลี่ย 3-5% กับลูกค้า เพราะหลังจากในวันที่ 1 ม.ค.2558 จะมีสินค้าไทย 723 รายการถูกตัดออกจากบัญชีสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป จากเดิมที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 50 รายการ แต่เบื้องต้นทางลูกค้าในตลาดอียูหลายรายไม่ต้องการให้ไทยปรับขึ้นราคา เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่พร้อมที่จะซื้อสินค้าที่แพงขึ้น

 

ทั้งนี้ หากไม่สามารถปรับราคาตามต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น อาจทำให้สินค้าบางประเภทไม่สามารถที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ เพราะยิ่งส่งมากก็ยิ่งขาดทุนมาก ทำให้ผู้ส่งออกบางรายจำเป็นต้องมีการหาตลาดส่งออกสินค้าอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน เป็นต้น ส่วนสินค้าบางประเภทที่ภาษีปรับขึ้นจากเดิมไม่มากก็ยังคงแข่งขันได้ตามปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ทางลูกค้าในยุโรปหลายกลุ่ม ได้เสนอให้ผู้ส่งออกไทยที่มีเงินทุนควรขยายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพีเกือบ 100% หรือสินค้าหลายอย่างเสียภาษี 0% เช่น ประเทศลาว พม่า กัมพูชา บังกลาเทศ เพราะได้รับสิทธิ์ในฐานะประเทศที่ยังด้อยการพัฒนา และควรขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ในการส่งออกไปสหรัฐ เช่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี

 

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นพบว่า มีผู้ผลิตสินค้าไทยหลายๆ ประเภทที่ได้เตรียมความพร้อมในการขยายฐานการผลิตไปยังทีพีพีแล้ว เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์ โดยในอนาคตก็คงต้องเพิ่มกำลังการผลิตในสาขาที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อของยุโรป ทั้งนี้ ยังมองว่าหากไทยถูกตัดจีเอสพี ในระยะเร่งด่วนผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ไขเพื่อรักษาตลาดอียูได้

 

แม้สิทธิพิเศษจีเอสพีจะไม่ได้ลดภาษีเป็น 0% แต่ก็ช่วยลดอัตราภาษีได้พอสมควรซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้นำเข้า เช่น รองเท้าผ้าใบอัตราภาษีที่ได้จากจีเอสพีอยู่ที่ 7.8% แต่เมื่อไม่มีสิทธิพิเศษจีเอสพีภาษีจะอยู่ที่ 17.8% ซึ่งถือว่าการแข่งขันหรือการส่งออกของไทยไปยุโรปโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นยาก

 

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ผู้ผลิตสินค้าไทยที่มีออเดอร์ตลาดยุโรปในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าต้องเร่งผลิตสินค้าให้เร็วขึ้นเพื่อสามารถส่งสินค้าจากท่าเรือไทยก่อนวันที่ 25 พ.ย.2557 ซึ่งจะทำให้เรือสามารถส่งสินค้าได้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2557 นี้ หากส่งหลังจากนั้นสินค้าจะต้องเสียภาษีตามปกติหรือไม่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค.2558