ECONOMICS

บริษัทวิจัย เผย ระดับเงินเดือนทั่วเอเชียแปซิฟิกในปี 2014 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6.9%
POSTED ON 07/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - การสำรวจจัดทำโดย ทาวเวอร์ส วัทสัน (Towers Watson) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลธุรกิจระดับโลก ระบุว่า ระดับเงินเดือนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2014 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.9 นำโดยประเทศจีนซึ่งมีอัตราเฉลี่ยสูงสุด ขณะที่คาดการณ์ว่าประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเดือน หลังประสบภาวะเงินเฟ้อ

 

โดยคาดว่าระดับเงินเดือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2014 จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2013 และลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนกันยายน 2013 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่อัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1

 

จากรายงานการสำรวจแผนงบประมาณสำหรับระดับเงินเดือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2013-2014 โดย ทาวเวอร์ส วัทสัน (Towers Watson’s 2013-2014 Asia-Pacific Salary Budget Planning Report) จำนวน 2,000 ตัวอย่าง จาก 18 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการสำรวจรวบรวมข้อมูลจาก 400 บริษัทในกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกัน บางบริษัทส่งผลสำรวจครอบคลุมหลายประเทศที่มีสาขาอยู่ ซึ่งผลวิจัยนั้นจัดทำขึ้นสวนทางกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2013 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และมีอัตราการว่างงานลดน้อยลง    

 

ก่อนหน้านี้ได้มีการคาดการณ์ว่าระดับเงินเดือนในประเทศจีนและกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 แต่หลังจากผนวกการคาดการณ์เกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อ อัตราเฉลี่ยการเพิ่มของระดับเงินเดือนของทั้งสองประเทศจึงถูกคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ

 

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนคือร้อยละ 11.5 และอินโดนีเซียร้อยละ 9.6 ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์อาจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.5 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ด้านปากีสถานและอินเดีย พบว่ามีแนวโน้มที่จะมีอัตราเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 13 และร้อยละ 10 สำหรับนิวซีแลนด์ คาดว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนอยู่ที่ร้อยละ 3 และญี่ปุ่นร้อยละ 2 ซึ่งนับเป็นประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนในระดับต่ำสุด

 

คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยน่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนประจำปี 2014 อยู่ที่ร้อยละ 5.4  ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนอาจจะลดลง หากว่าประเทศไทยยังคงประสบกับภาวะความขัดแย้งทางการเมืองตลอดทั้งปี

 

องค์กรต่างๆ จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้แก่พนักงานที่มีศักยภาพในการทำงานสูง หรือที่เรียกว่า “High Performers” เพื่อจะได้มั่นใจได้ว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปนั้นเป็นไปเพื่อรักษาบุคคลที่มีความสามารถไว้กับองค์กร ซึ่งจากผลการสำรวจ องค์กรในประเทศไทยร้อยละ 9 ได้จัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้แก่ “High Performers” ภายในองค์กร ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อส่งผลให้องค์กรต่างๆ ระมัดระวังในการจ้างพนักงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้เราเห็นความต้องการจ้างงานที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกแล้ว อาทิเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต และ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงกลุ่มธุรกิจค้าปลีกต่างๆ

 

ด้าน นายแซมบาฟ ลัคคยาน ผู้อำนวยการฝ่ายให้บริการข้อมูลของทาวเวอร์ส วัทสัน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เราได้ทำการปรับข้อมูลคาดการณ์ระดับเงินเดือนให้ลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2013 ที่ผ่านมา อันเนื่องจากตอนนี้บริษัทต่างๆ มีตัวเลขงบประมาณของปี 2014 ที่ชัดเจนมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อในปี 2014 นี้มีแนวโน้มว่าจะน้อยลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในปี 2014 ถูกคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปี 2013 เพียงแต่ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4.2

 

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า สำหรับองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น การสรรหาและการเก็บรักษาบุคลากรที่มีทักษะและมีความเหมาะสมกับองค์กรนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง “การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนในกลุ่มพนักงานภาคการผลิตหรือกลุ่มแรงงานที่ถูกคาดการณ์ไว้ในประเทศจีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไทย แสดงถึงความกดดันที่เพิ่มขึ้นในการสรรหาพนักงานให้มีคุณลักษณะตรงตามความต้องการ”

 

“เรามักพบข้อมูลจากนายจ้างที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตว่า การสรรหาและการเก็บรักษาบุคลากรเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรในภาคธุรกิจนี้ประสบมาอย่างต่อเนื่อง” นายแซมบาฟ กล่าวเพิ่มเติม

 

นอกจากนี้ ในตลาดของกลุ่มประเทศอื่นๆ อาทิเช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม  มีแนวโน้มของอัตราการเพิ่มเงินเดือนที่สูงกว่าสำหรับกลุ่มบุคลากรระดับกลาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในตลาดเหล่านั้น