ECONOMICS

สหรัฐฯ ปรับไทยสู่ Tier3 อาจกระทบส่งออก แนะรัฐวางแผนแก้ไขระยะยาว
POSTED ON 02/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาแรงงานของไทย ว่า กรณีที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของทางสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปทั่วโลกด้วย

 

นอกจากนี้ กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยระบุว่า สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้มีการเจรจาหารือแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมืองโดยสันติและครบต่อหลักการประชาธิปไตยในประเทศไทยมาโดยตลอด ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้คือการกำหนดกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้งที่ชัดเจนเพื่อให้นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถทำหน้าที่อย่างเต็มที่และเป็นที่ยอมรับ รวมถึงมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดยขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจและให้ทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักและเรียกร้องให้ทหารเคารพต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล รวมไปถึงสิทธิเสรีของสื่อด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลภาพลักษณ์ต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน จากการแถลงข่าวของยุโรปในครั้งนี้

 

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการแรงงานและทรัพย์กรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงาน 3 ด้าน คือ

 

(1) การแก้ปัญหาแรงงานของประเทศไทย จะต้องมีการวางแผนระยะยาว 5-10 ปี เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรองรับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงขึ้น จัดการแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

(2) การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องจัดระเบียนแรงงานต่างด้าว อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้าง-ลูกจ้าง

 

(3) การแก้ไขปัญหาแรงงานประมง เสนอให้มีการจัดระเบียบเรือประมง ต้องมีใบอาชญาบัตรเรือ ออกใบอนุญาตใช้เรือประมงและสำรวจแรงงานประมง ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของกรมประมง

 

โดยจะนำข้อเสนอเข้าสูการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 นี้ ก่อนเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณากำหนดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม