ECONOMICS

"มิตรผล" แนะเปิดเสรีน้ำตาล รับการแข่งขันใน AEC
POSTED ON 01/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายกฤษฎา มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในไทย และผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ (ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ในนามสามสมาคมโรงงานน้ำตาล เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (White Paper) ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างเสรี สอดรับการแข่งขันหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558

 

โดยจะเสนอให้พิจารณาการเปิดเสรีอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันมีการควบคุมราคา และปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ (น้ำตาลโควต้า ก) และยังมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาล พร้อมทั้งเสนอให้มีการลงทุนในระบบชลประทาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (ยีลด์) นอกจากนี้ ยังจะเสนอให้มีการกำหนดพื้นที่ (โซนนิ่ง) พื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ และปริมาณความต้องการ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพราคาของผลผลิตการเกษตร ไม่เกิดการแย่งพื้นที่เพาะปลูก

 

นายกฤษฎา ยังกล่าวอีกว่า "หากประเทศไทยเปิดเสรีน้ำตาลจริงๆ ราคาน้ำตาลในประเทศไม่น่าจะปรับสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก"

 

จากการที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ โดยลดระดับไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานะการค้ามนุษย์ในระดับต่ำสุด โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมที่ถูกระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กนั้น ขณะนี้สมาคมน้ำตาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยส่งรายงานไปยังสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะแถลงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้

 

ปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาลไปจำหน่ายในสหรัฐฯ เพียง 1.4 หมื่นตัน เมื่อเทียบกับตัวเลขส่งออกน้ำตาลของไทยที่ 8 ล้านตัน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

 

นายกฤษฎา ยังคาดการณ์รายได้ในปีนี้ว่า จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่รายได้เกือบแสนล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่จากการอ่อนค่าของเงินบาททำให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้นมาชดเชยรายได้ในประเทศ โดยปัจจุบันมิตรผลมีสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลกว่า 70% ของกำลังการผลิตน้ำตาลที่ 2 ล้านตัน

 

"ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนกลยุทธ์การลงทุน โดยเฉพาะการผลิตเอทานอล (ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.1 ล้านลิตรมากที่สุดในประเทศ) หาก คสช.ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้า อาจมีผลทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลง กระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมเอทานอลเนื่องจากเป็นส่วนผสมในน้ำมัน ดังนั้นการนโยบายลงทุนในธุรกิจนี้ ในระยะยาว อาจต้องมุ่งไปสู่การเป็นผู้การจัดหาเอทานอล ให้กับอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกแทน" นายกฤษฎา กล่าว