ECONOMICS

เอสเอ็มอี 2 แสนรายขาดสภาพคล่อง หวั่นธุรกิจมีปัญหา
POSTED ON 01/07/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แถลงผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่า ภาพรวมเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น หากการเมืองมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำนโยบายการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีมาใช้ จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและกำลังซื้อภายในประเทศและเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ เอสเอ็มอี 81.6% เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยมีอัตราขยายตัว 2.89% และคาดว่าทั้งปีขยายตัว 2.64% มีเพียง 10.2% เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจจะใกล้เคียงกัน และอีก 8.2% มองว่าจะแย่ลง ด้านประมาณการณ์ยอดขายของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังส่วนใหญ่ 40.2% คาดว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ 21.1% ลดลง โดยกลุ่มที่ระบุว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นมียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19.6%

 

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า พบว่า เอสเอ็มอี 83.4% ระบุว่ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ 70.5% ระบุว่า จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ อีก 62.5%เห็นว่าผลจากการที่เอสเอ็มอีจะสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ ขณะที่ 31.5% เสถียรภาพทางการเมืองและอีก 12.6% ระบุว่าเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินบาท การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ

 

ด้านสถานการณ์สภาพคล่องของเอสเอ็มอี แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะรายเล็กต้องได้รับความช่วยเหลือ เพราะพบว่ากลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คนโดยเฉลี่ยมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับทำธุรกิจประมาณ 30-45 วัน ส่วนธุรกิจขนาดกลางที่มีการจ้างงานมากกว่า 50 คน แต่ไม่เกิน 100 คน โดยเฉลี่ยแล้วมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจประมาณ 60-90 วัน หากเปรียบเทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้ พบว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีในทุกกลุ่มสภาพดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย

 

ด้านแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 96.8% ใช้เงินทุนของตนเองของผู้ที่ให้ข้อมูลทั้งหมด อันดับ 2 กว่า 38.3% จากธนาคารพาณิชย์ อันดับ 3 คือ พึ่งพาครอบครัว จากการใช้บัตรเครดิต ในสัดส่วนเท่ากัน 4.6 %และยังพบว่าเอสเอ็มอี ประมาณ 7.8 %หรือประมาณ 207,133 รายของเอสเอ็มอีทั้งหมด เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องสูงและไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามปกติได้

 

นายเกียรติอนันต์ แถลงผลวิจัยเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของแรงงานในด้านเศรษฐกิจ ภายหลังจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมาแล้ว 2 ปี ในจังหวัดนำร่องที่ได้ขึ้นค่าแรงในเดือนเมษายน 2555 ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรปราการ ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้ช่วยให้รายได้ของแรงงานกลุ่มหนึ่งดีขึ้นจริง แต่ค่าครองชีพโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานมีน้อยลง ทำให้ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมในการใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเพิ่มจาก 231 บาทต่อวันในปี 2554 เป็น 266 บาทต่อวันในปี 2556 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

 

โดยประเมินโครงสร้างการใช้จ่าย เฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ สาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาใช้ในการประมาณสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นใช้ในชีวิตประจำวันของแรงงานที่มีรายได้ประมาณ 300 บาทต่อวัน พบว่า ค่าใช้จ่ายในปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 77% เป็น 88.5% คิดเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 11.5% และหากประเมินในระดับ และเมื่อประเมินในระดับครัวเรือน พบว่า ปี 2557 ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพิ่มจาก 60.3% เป็น 70.9% คิดเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 10.6%