ECONOMICS

หอการค้าฯ ชี้เอสเอ็มอี 4-5 แสนรายมีปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน
POSTED ON 18/06/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาส 1/2557 อยู่ที่ระดับ 56 จุด ปรับตัวลดลง 3.6 จุด ผลจากยอดขายที่ลดลง ต้นทุนสูงขึ้น ขาดสภาพคล่อง แต่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ และปัญหาการเมืองคลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความมั่นใจมากขึ้น อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย

 

โดยประเมินว่า ไตรมาส 2/2557 ดัชนีความสามารถการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60.2 จุด แต่ต้องมีการช่วยเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและผลผลิตของเอสเอ็มอีด้วย โดยอาจจัดหาวงเงิน 50,000 ล้านบาทในการช่วยเอสเอ็มอีที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ซึ่งมีประมาณ 20% หรือประมาณ 4-5 แสนราย

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มยอดขายเอสเอ็มอีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากที่เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น และการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาการว่างงานยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังอยู่ในระดับดีประมาณ 0.7% และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ตามนโยบาย คสช. จะยิ่งช่วยเพิ่มการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนานาชาติว่าไทยจะมีโครงการลงทุนครั้งใหญ่

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 3 อันดับแรกคือ (1) การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ, (2) ช่วยเหลือด้านต้นทุนของสินค้าให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ และ (3) ช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ

 

ขณะที่ นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สสวท.) กล่าวว่า จากที่ คสช.ได้ผลักดันนโยบายสนับสนุนสินเชื่อเอสเอ็มอี เชื่อว่าจะทำให้แบงก์มีความเชื่อมั่นและขานรับทำให้เกิดผลโดยเร็ว และกฎระเบียบที่เข้มงวดต่างๆ คาดว่าจะได้รับการอนุโลมในระยะนี้ สถานการณ์ในช่วงนี้ผ่อนคลายขึ้น เชื่อว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการจะมีกำลังใจลุกขึ้นมาผลิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนและรับออร์เดอร์ในช่วงนี้

 

อย่างไรก็ดี ตนมองว่ามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไม่ควรจะเป็นแคมเปญระยะสั้นๆ 3 เดือน แต่ต้องเป็นมาตรการระยะยาว ทั้งย้ำว่าควรมีแหล่งเงินทุนสำหรับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เห็นว่าควรมีการสานต่อโครงการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นช่องทางช่วยเอสเอ็มอีขยายตลาด

 

ด้าน นายครรชิต จันทนพรชัย นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แบงก์แต่ละแห่งจะเน้นช่วยลูกค้าที่มีโอกาสรอดหรือที่เข้มแข็ง แม้ว่าบรรษัทอุตสาหกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน แต่การอนุมัติสินเชื่อก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแบงก์ ซึ่งสมาคมมีสมาชิกราว 400 ราย และกว่าครึ่งเป็นรายย่อยมีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 1 ล้านบาท ทำให้มีปัญหาเรื่องแหล่งทุนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ นโยบายการช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่างๆ จะเอาเงินเป็นตัวตั้งไม่ได้ ต้องมีกระบวนการที่ช่วยแนะนำเอสเอ็มอีก่อนปล่อยกู้ด้วย

 

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการของ คสช.เดินมาถูกทาง เพราะผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่การปล่อยกู้เอสเอ็มอีรายย่อยมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีหลักทรัพย์ไม่พอ ซึ่งจะมี บสย.เข้ามาค้ำประกัน แบบนี้ยังพอมีทางรอด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือแบบที่ไม่มีหลักทรัพย์ เป็นร้านค้าเล็กๆ ซึ่งจะต้องมาพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร