ECONOMICS

อุตฯ อาหารสัตว์ฯ เร่งพัฒนามาตรฐานข้าวโพดแข่งตลาดต่างประเทศ
POSTED ON 20/05/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกำลังเร่งดำเนินการนำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปี 2575 มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เริ่มจากการจัดทำร่างมาตรฐานการปลูกข้าวโพดอย่างยั่งยืน

 

โดยสาระสำคัญจะกำหนดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละขั้นตอน เช่น ที่ดินจะนำไปใช้ต้องพิจารณาให้ดี ตอนนี้ปลูกข้าวโพดได้ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่าไหร่ ใช้น้ำปริมาณกี่ลิตร ใช้ปุ๋ยเท่าไหร่ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ตัดไม้ทำลายป่าเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าในการเพาะปลูกข้าวโพด

 

ทั้งนี้ ร่างมาตรฐานการปลูกข้าวโพดอย่างยั่งยืนดังกล่าวไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ แต่ภาคเอกชนกำหนดขึ้น หากเกษตรกรรายใดสามารถปฏิบัติตามได้ จะรับซื้อข้าวโพดในราคาที่สูงกว่าราคาข้าวโพดในท้องตลาด ถือเป็นการใช้การตลาดจูงใจยกระดับการปลูกพืชของเกษตรกรไทย

 

"ตามแผนคาดว่า ร่างดังกล่าวจะแล้วเสร็จปลายปี 2557 หลังจากนั้นต้องทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเป็นรูปธรรมนำมาใช้ได้ประมาณกลางปี 2558 โดยหลังจากจัดทำร่างฯ เสร็จ ทางสมาคมฯ จะช่วยประสานในการจัดหาแหล่งเงินทุนมาช่วยในการปรับตัว ซึ่งคงต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อช่วยยกระดับเกษตรกรให้ดีขึ้น กว่าจะเห็นผลสำเร็จคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีพอสมควร แต่ถือว่าช่วยให้การบริหารจัดการจำนวนผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ และเตรียมรองรับกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของประเทศคู่ค้าที่จะใช้เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าในอนาคต" นายพรศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นายพรศิลป์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ประกาศการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) พืช อาหาร แต่เป็นมาตรฐานสมัครใจ ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ ก็ไม่มีเกษตรกรทำกันมากนัก เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุน ทางสมาคมฯ จึงต้องพัฒนาต่อไปข้างหน้า นอกจากต้องปลูกตามหลัก GAP แล้ว เกษตรกรต้องนำมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนมาปฏิบัติด้วย จะใช้ตลาดบังคับ ยกระดับเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น

 

ถ้าทำได้ตามมาตรฐานจะให้ราคาที่ดีขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าผ่าน GAP ให้ 10 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าผ่านมาตรฐานความยั่งยืนให้ 12 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ คงต้องขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะเห็นผลสำเร็จ

 

"เราต้องวิ่งหนีไปข้างหน้าก่อน ต้องบอกเกษตรกรว่า ต่อไปตลาดเปลี่ยน เกษตรกรต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ต้องทำวันหน้า ต่อไปการค้าขายจะดูตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หากทำ GAP และความยั่งยืนจะทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย ที่ผ่านมาผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศ 5 ล้านตันโดยเฉลี่ยต่อปี ทุกปีผู้ผลิตอาหารสัตว์จะรับซื้อหมด ในอนาคตเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สะท้อนทรัพยากรที่มีอยู่ในไทยว่า จะไม่พอภายในกี่ปี ต้องวางแผนล่วงหน้า หากปล่อยให้มีการปลูกข้าวโพดอย่างที่ทำอยู่ปัจจุบันไปเรื่อยๆ ประเทศไทยคงแข่งขันลำบาก ขณะเดียวกันเราจะกันข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้ามา เพราะมาตรการทางภาษีต่อไปจะไม่มีแล้ว การไม่มีภาษีทำให้ต้นทุนข้าวโพดถูกลง แต่เกษตรกรไทยจะปกป้องตัวเองอย่างไร ต้องไปลงทุนเพิ่ม ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้มากขึ้น" นายพรศิลป์ กล่าว