ECONOMICS

?มูดี้ส์? ชี้ ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นไทย แต่ยังไม่หั่นเครดิต
POSTED ON 29/04/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service (มูดี้ส์) รายงานว่า อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของไทยอยู่ที่ระดับBaa1 โดยมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ ยังคงเป็นผลมาจากสถานะทางการเงินของรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำและโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวย รวมทั้งความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี มูส์ดี้มองว่าหากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2557 หรือหากความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบเชิงลบไปยังภาคการท่องเที่ยวหรือภาคการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หากต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะดุลการชำระเงินอ่อนแอลงโดยฉับพลัน รวมทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นผลลบต่อความน่าเชื่อถือเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด มูดี้ส์เห็นว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดที่จะส่งผลให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ มูดี้ส์ได้พิจารณาและประเมินปัจจัย 4 ด้านของไทย ประกอบด้วยด้านความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง (+) ความแข็งแกร่งด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (+) ความแข็งแกร่งทางการเงินภาครัฐอยู่ในระดับสูงมาก และความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง (+)

 

“มูดี้ส์มองว่าสถานการณ์การแบ่งขั้วทางการเมืองภายในประเทศอย่างชัดเจนของไทยนับเป็นความท้าทายหลักของความน่าเชื่อถือ และความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นนับเป็นข้อจำกัดหลักสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในขณะนี้และในอนาคต โดยหากการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป อาจบั่นทอนจุดแข็งหลักของความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญเติบโตในปี 2557-2558 จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ล่าช้าออกไปและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ทั้งเห็นว่าการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์เสื่อมลงบ้าง” นางสาวจุฬารัตน์ กล่าว

 

นอกจากนั้น ในรายงานยังได้ชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งที่สำคัญของไทย คือ ขีดความสามารถในการรองรับหนี้ของรัฐบาลอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุกและการดำเนินนโยบายการเงินที่น่าเชื่อถือ รวมถึงความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่ถูกจำกัดโดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น