ECONOMICS

หอการค้า หวั่น คนตกงานเพิ่ม ช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้ เหตุธุรกิจลดจ้างคน
POSTED ON 28/04/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย จากประชาชน 1,200 ราย ระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน 2557 พบว่า แรงงานไทย 93.7% ยอมรับว่ามีภาระหนี้ โดยเฉพาะแรงงานรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท สัดส่วน 60% มีหนี้มากกว่ารายได้ และ 50% ต้องกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและชำระค่าที่พักอาศัย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยมีภาระหนี้ต่อครัวเรือน 1.06 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ 56.1% และหนี้ในระบบ 43.9% ซึ่งยอดผ่อนชำระหนี้ 7,412 บาทต่อเดือน ซึ่งสัดส่วนหนี้นอกระบบและยอดหนี้ต่อครัวเรือนสูงสุดจากที่เคยทำสำรวจมาใน รอบ 6 ปี นับจากปี 2552 สะท้อนแรงงานรายได้น้อยแบกรับภาระหนี้มากกว่ารายได้ที่ได้รับจริง และจากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลายเป็นความกังวลแรกของแรงงานไทย จากเดิมที่เคยกังวลเป็นอันดับที่ 5 โดยความกังวลรองลงมาคือรายได้ในอนาคต ราคาสินค้าแพง ตกงาน และปัญหาการเมือง

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับวันหยุดแรงงาน 1 พฤษภาคม 2557 แรงงานไทย 68.2% เห็นว่าบรรยากาศปีนี้จะคึกคักพอๆ กับปีก่อน ซึ่งการใช้จ่ายต่อคนในช่วงวันหยุดแรงงานปีนี้อยู่ที่ 957.68 บาท/คน คาดว่า มีมูลค่าใช้จ่ายรวมที่ 1,965 ล้านบาท หรือขยายตัวแค่ 2.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับจากที่สำรวจปี 2552 เงินใช้ส่วนใหญ่เพื่อสังสรรค์และท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังระบุอีกว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยแย่ลงทำให้แรงงานเริ่มกังวลว่าจะตกงานเพิ่มขึ้น และโอกาสหางานใหม่ก็ยากขึ้นด้วย จึงไม่คิดเปลี่ยนงานแม้ว่าจะเห็นว่าค่าแรงจะไม่คุ้มค่า โดยเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 388.25 บาทต่อวัน ไม่ใช่ 300 บาทต่อวัน พร้อมเสนอให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 498.06 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า และ 579.74 บาท ใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อแยกรายภูมิภาค แรงงานไทยใน กทม. และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ ให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายแรงงานรัฐบาลปัจจุบัน 4.1 คะแนน 4.9 คะแนน และ 4.6 คะแนน ตามลำดับ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5.1 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน ซึ่งต่ำกว่า 5 คะแนนถือว่ารัฐบาลสอบตก

 

ส่วนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เชื่อว่า แรงงานไทยได้รับผลกระทบปานกลาง และเห็นว่าแรงงานไทยยังปรับตัวรับเออีซีระดับปานกลาง โดยยังต้องปรับปรุงในเรื่องทักษะฝีมือ ภาษา และเทคโนโลยี

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลสำรวจจากธุรกิจ ระบุว่า ช่วงนี้ไม่มีการจ้างแรงงานใหม่ แต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพและเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาจต้องลดแรงงานในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ หลังจากธุรกิจบางส่วนลดเวลาทำงานและเงินรายได้พิเศษแล้ว ทำให้วิตกว่าอัตราว่างงานมีโอกาสเพิ่มเป็น 1.5-1.7% ของแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 6 แสนคน มากสุดในรอบ 10 ปี