ECONOMICS

ตลาดรถยนต์ถดถอยหนัก หวังอีโคคาร์ 2 ช่วยพยุง
POSTED ON 17/04/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - จากตัวเลขการรายงานยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 ของสถาบันยานยนต์ ชี้ให้เห็นถึงยอดขายรวมที่เหลือเพียง 140,228 คัน ลดลงอย่างมากถึงกว่าร้อยละ 45.2 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีจำนวน 255,727 คัน ส่งผลให้เห็นถึงทิศทางการหดตัวของตลาดรถยนต์ปีนี้อย่างชัดเจน หลังโครงการรถยนต์คันแรกได้หมดลง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ทิศทางยอดขายรถยนต์หดตัวเช่นนี้ คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปเกือบตลอดทั้งปีจากปัจจัยลบรอบด้าน ได้แก่ ความต้องการซื้อรถยนต์ที่หดตัวอยู่แล้ว จากที่โครงการรถยนต์คันแรกได้ดึงความต้องการซื้อล่วงหน้าไปใช้ รวมถึงกำลังซื้อที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่จากปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคต่างจังหวัด

 

นอกจากนี้ ปัจจัยลบอีกประการสำคัญที่เข้ามากระทบตลาดปีนี้ คือ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะยืดเยื้อ ซึ่งนอกจากจะทำให้บรรยากาศในการซื้อรถยนต์ลดลงแล้ว การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในบางด้านที่ล่าช้าออกไป ก็อาจมีผลต่อความต้องการซื้อรถยนต์ของผู้ซื้อบางกลุ่ม เช่น เกษตรกร ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น

 

สำหรับยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงนั้น เมื่อพิจารณาแยกย่อยลงไปพบว่าความรุนแรงของการหดตัวนั้นจะต่างกันอยู่บ้าง และผลที่เข้ามากระทบกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ในปี 2557 ก็จะต่างกันไป ดังนี้

 

ตลาดรถยนต์นั่ง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึงเกือบร้อยละ 50 ของตลาดรวมในประเทศ จากสถิติของสถาบันยานยนต์พบว่า 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2557) กลุ่มรถยนต์นั่งหดตัวลงร้อยละ 52 เป็นการหดตัวลงของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (650-1,500 ซีซี) ถึงร้อยละ 58.6 ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดใหญ่รุ่น 1,800 ซีซีขึ้นไป หดตัวร้อยละ 46.9 และรถยนต์นั่งขนาดกลางรุ่น 1,501-1,800 ซีซี หดตัวน้อยที่สุดร้อยละ 32.7 แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าในปีนี้รถยนต์นั่งขนาดเล็กน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดกลางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รถยนต์นั่งขนาดเล็กถูกกระตุ้นกำลังซื้อที่เกินกว่าความต้องการซื้อจริงในตลาดไปมาก จากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้ความต้องการซื้อปัจจุบันมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลางไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ ทำให้ตลาดไม่ถูกบิดเบือนไปมาก การหดตัวที่น้อยกว่าของรถยนต์นั่งขนาดกลางจึงมาจากประเด็นเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองที่อาจยืดเยื้อเป็นหลัก

 

สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ พบว่า ช่วง 2 เดือนแรกหดตัวลงร้อยละ 38 ซึ่งในส่วนของรถกระบะซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 92 ของตลาดรวมรถเพื่อการพาณิชย์หดตัวถึงร้อยละ 36 โดยพบว่าเกิดจากการหดตัวลงของรถกระบะ Double Cab ถึงร้อยละ 53.3 ขณะที่รถกระบะ 1 ตัน หดตัวร้อยละ 28.3 และรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (PPV) หดตัวน้อยที่สุดร้อยละ 20.9 ทำให้ปีนี้มีแนวโน้มว่ารถกระบะ Double Cab จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะรถกระบะ Double Cab ซึ่งเป็นรถรุ่นราคาสูงที่สุดในกลุ่มรถกระบะที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้เงินคืนภาษีที่ได้ก็สูงตามไปด้วย ส่งผลให้ถูกกระตุ้นกำลังซื้อที่เกินกว่าความต้องการซื้อจริงในตลาดไปมาก

 

นอกจากนี้ รถเพื่อการพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบมากจากกำลังซื้อที่หดหายของตลาดต่างจังหวัด จากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และโครงการรับจำนำข้าวที่ยังมีปัญหาการจ่ายเงินชาวนา รวมถึงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็ยังอยู่ในระดับไม่สู้ดีนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมที่ยังซบเซา ทำให้ธุรกิจต่างๆ ยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มจำนวนรถขนส่งสินค้า

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 น่าจะเริ่มเห็นตัวเลขการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศชัดเจนมากขึ้นจากปัจจัยบวก ได้แก่ ฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายได้มากขึ้น ทั้งภาวะความขัดแย้งทางการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมทั้งการเตรียมตัวของธุรกิจเพื่อเข้าสู่ปีแห่งการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

 

ทั้ง นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2557 น่าจะหดตัวที่ร้อยละ 20-25 คิดเป็นยอดขายรถยนต์ปีนี้ประมาณ 1.00-1.06 ล้านคันจากปี 2556 ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 1.33 ล้านคัน

 

แม้ว่าตลาดส่งออกในปี 2557 จะมีโอกาสขยายตัวได้ แต่ผลจากตลาดรถยนต์ในประเทศที่มีโอกาสหดตัวสูงมาก ทำให้การผลิตรถยนต์ของไทยมีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่อง โดยช่วง 2 เดือนแรกการผลิตรถยนต์ในประเทศหดตัวลงไปแล้วถึงกว่าร้อยละ 28 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานอัตราการใช้กำลังการผลิตล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 82.79 ปรับลดลงจากอัตราการใช้กำลังการผลิตปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 96.78 ซึ่งไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการใช้กำลังการผลิตปี 2553 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตน้ำท่วมและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น

 

ทำให้มองว่าปี 2557 ยอดการผลิตรถยนต์อาจต้องเผชิญกับภาวะการหดตัวอีกครั้ง หลังจากที่เคยหดตัวในช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ โดยในปีนี้คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์อาจลดลงเหลือเพียงประมาณ 2.2-2.3 ล้านคัน หรือหดตัวลงกว่าร้อยละ 6-10 จากปี 2556 ที่มียอดผลิตสูงมากกว่า 2.45 ล้านคัน และอาจทำให้อันดับประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของไทยปรับลดลงจากอันดับ 9 ในปีที่แล้วก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงของยอดการผลิตในปี 2557 เป็นเพียงการปรับลดลงในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งในระยะต่อจากนี้ไปปัจจัยบวกสำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศของไทยจะมีเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC และการพัฒนาสายการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ภายใต้โครงการอีโคคาร์รุ่นที่ 2 ซึ่งล่าสุดได้มีค่ายรถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 10 ราย เป็นมูลค่าการลงทุน 138,889 ล้านบาท รวมกำลังการผลิต 1,581,000 คัน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่อาจทราบว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีจำนวนค่ายรถกี่ค่ายที่เข้ามาลงสนามจริงในอนาคต แต่อย่างน้อยก็น่าจะทำให้กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนที่มากกว่า 500,000 คันในอนาคตอันใกล้

 

โครงการอีโคคาร์รุ่นที่ 2 น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยก้าวไปสู่เป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 3 ล้านคัน ได้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้านี้