ECONOMICS

ยอดขอส่งเสริมลงทุนไตรมาส 1/2557 ลดลง 10% แต่มีหลายกลุ่มขยายลงทุนเพิ่ม
POSTED ON 11/04/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยยอดคำขอรับส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรกปี 2557 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอส่งเสริมสูงถึง 234,000 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอลงทุนมากที่สุด คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามด้วยกลุ่มปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า ส่วนการลงทุนของต่างประเทศ มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 28%

 

มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 291 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 234,000 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการลดลงร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 564 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 261,600 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาการยื่นขอรับส่งเสริมรายอุตสาหกรรม พบว่า มีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีการขยายการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักร มีมูลค่าเงินลงทุน 157,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 265 ซึ่งเป็นผลมาจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2

 

ตามมาด้วยกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 31,400 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก มีมูลค่าเงินลงทุนของโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอรับส่งเสริม 23,200 ล้านบาท และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุน 11,900 ล้านบาท

 

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า "แม้มูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากโครงการอีโคคาร์ 2 แต่ก็ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระดับหลายพันล้านบาท ถึงระดับหมื่นล้านบาทที่ยื่นขอส่งเสริมเข้ามาในช่วงไตรมาสแรกนี้ด้วย และจากการพบปะหารือกับนักลงทุนก็พบว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาอีก จึงมั่นใจว่าเป้าหมาย 9 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้ในปีนี้น่าจะเป็นไปตามคาด ทั้งนี้ สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมนอกเหนือจากอีโคคาร์ 2 แล้ว ก็จะมีโครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้า โครงการปิโตรเคมี และโครงการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น"

 

นายอุดมยังกล่าวถึงการยื่นขอรับส่งเสริมของโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาด้วยว่า มีจำนวน 197 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 201,966 ล้านบาท จำนวนโครงการปรับลดลง ร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 338 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 157,671 ล้านบาท

 

โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 96 โครงการ เงินลงทุน 61,135 ล้านบาท โดยโครงการและมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 176 โครงการ เงินลงทุน 87,483 ล้านบาท หรือปรับลดลง ร้อยละ 45.4 และ 30 ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ พบว่ามีการลงทุนของต่างชาติจากหลายประเทศ ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ได้แก่ โครงการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเงินลงทุน 41,065 ล้านบาท โครงการลงทุนจากจีนมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 9,403 ล้านบาท และโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 9,368 ล้านบาท