ECONOMICS

สสว.เล็งออกประกันรายได้ ช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง
POSTED ON 08/04/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจหลายประการ ที่สำคัญได้แก่สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองปัญหาส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายของเอสเอ็มอีทั้งระบบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองจนไม่สามารถเปิดกิจการได้ตามปกติ หรือต้องปิดกิจการ ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สสว. ประมาณว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองไม่เกิน 20,000 ราย หรือประมาณ 0.8% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศซึ่งมีทั้งหมดกว่า 2.8 ล้านราย

 

นายปฏิมา กล่าวว่า สสว.กำลังอยู่ระหว่างศึกษามาตรการให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ในระยะสั้น สสว.ได้เร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้งภาคเอกชนที่ทำธุรกิจประกันภัยเพื่อให้มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กมาก เช่น หาบเร่ แผงลอย หรือร้านค้าขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงที่จะขาดรายได้ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยรูปแบบของการประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาก ก็คือการประกันรายได้ขั้นต่ำต่อวัน เช่น วันละ 300-500 บาท โดยให้ผู้ประกอบการจ่ายเบี้ยประกันในราคาถูก เช่น อัตราเบี้ยประกันเพียงไม่เกิน 10 บาทต่อวัน โดยมาตรการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า และสามารถมอบหมายให้บริษัทประกันภัยขายให้กับผู้ประกอบการได้โดยตรง

 

ส่วนมาตรการระยะยาว สสว.อยู่ในระหว่างการศึกษามาตรการทางภาษี โดยจะจัดทำเป็นแพ็กเกจเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ในการสนับสนุนการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยอาจจะประกอบไปด้วย การปรับลดภาษีให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทั้งระบบ เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เอสเอ็มอีนั้นมีการซื้อ-ขาย และนำเข้า-ส่งออกสินค้า

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุในเรื่องของระยะเวลาและงบประมาณที่จะใช้ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ โดยจะต้องประเมินจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สามารถประยุกต์ใช้จากมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมาได้