ECONOMICS

การเมืองทำเศรษฐกิจฝ่อ หอการค้าปรับลด GDP เหลือ 2.5%
POSTED ON 21/03/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2557 เหลือขยายตัวเพียง 2.5% จากเดิมตั้งเป้าขยายตัว 4.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การลงทุนชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และชาวนาจำนวนมากไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งการปรับลดดังกล่าว ทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยลดลงทันที 4.2-4.3 แสนล้านบาท หรือจากเดิมที่คาดไว้ 12.87 ล้านล้านบาท เหลือ 12.44 ล้านล้านบาท

 

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะโตได้เพียง 0-1% และครึ่งปีหลังโตได้ 4-5% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 2-3% หรือเฉลี่ยที่ 2.5% ภายใต้เงื่อนไขต้องได้รัฐบาลตัวจริงภายในกลางปีนี้ หากไม่สามารถตั้งรัฐบาลตัวจริงได้ภายในปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะติดลบ 1% ส่วนการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อว่าจะส่งผลดีทางด้านจิตวิทยาด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง" นายธนวรรธน์ กล่าว

 

ด้าน นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หดตัวต่อเนื่อง 3-5% จากปัญหาหนี้เสียและการจ้างแรงงานใหม่ โดยมองว่าสถาบันการเงินของภาครัฐควรเตรียมมาตรการเสริมสภาพคล่องและดูแลผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจดังกล่าวจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงเดินหน้าลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) อีก 1 หมื่นล้านเหรียญ ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดทั่วโลกมีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ส่งผลให้ตลาดการเงินโดยรวมมีการปรับตัวตอบรับกับข่าวดังกล่าวบ้าง แต่ไม่มากและรุนแรง

 

“การที่เฟดลดมาตรการคิวอีลง ถือเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ถือเป็นปัจจัยบวกให้กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะไทยที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างเต็มที่หรือไม่นั้น ยังต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเติบโตที่ 4-5% เนื่องจากการบริโภคการลงทุนที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากปัญหาการเมือง แต่หากต้องการเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้เต็มศักยภาพ ภาค การคลังจะต้องดำเนินกิจกรรมในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามปกติก่อน” นางรุ่ง กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนไทยในขณะนี้ คงต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ทันกับเทคโนโลยีทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยหากทำได้เร็วจะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่หากล่าช้าเอกชนของไทยจะสูญเสียโอกาสอย่างหนัก ดังนั้นนโยบายการเงินของ ธปท.ก็ยังมีแนวโน้มที่ต้องผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมด้วย