ECONOMICS

สต็อกยางจีนล้น สต็อกยางโลกเพิ่ม 2 ล้านตัน ทำราคายางทรุด
POSTED ON 13/03/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวในงานสัมมนา "จัดทัพอุตฯยางไทยสู้ศึกใหญ่ตลาดเสรีอาเซียน" จัดโดย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า สถานการณ์ราคายางล่าสุด (5 มี.ค.2557) ยางแผ่นยางแผ่นดิบ กิโลกรัมละ 63 บาท น้ำยางข้น กิโลกรัมละ 66 บาท ราคาลดเหลือเพียง 40% ของราคาปี 2554

 

เมื่อพิจารณาการผลิต ความต้องการใช้และสต็อกที่เหลือปี 2551-2556 การผลิตและความต้องการใช้ใกล้เคียงกันมาก แต่ปี 2553-2554 ความต้องการใช้มากกว่าการผลิต ราคาจึงพุ่งเกินกิโลกรัมละ 100 บาท โดยเฉพาะปี 2554 ราคาพุ่งขึ้นไปเกือบกิโลกรัมละ 200 บาท แต่ในปี 2556 สต็อกยางทั่วโลกเหลือถึง 2 ล้านตันเศษ ราคาจึงทรุดลงตลอด

 

การผลิตยางของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ปี 2006-2012 ปลูกเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูกเปิดกรีดได้และยังไม่ได้ 12.84 ล้านไร่ ไทยปลูก 19 ล้านไร่เศษ กรีดได้จริง 13-14 ล้านไร่ อินโดนีเซียปลูก 22 ล้านไร่

 

ในปี 2022 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ผลผลิตกลุ่มประเทศ CLMV จะมีผลผลิต 2.8 ล้านตัน เมื่อรวมกับไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ ผลผลิตยางทั่วโลกจากปัจจุบัน 11 ล้านตัน/ปี จะเพิ่มอีก 5 ล้านตันใน 8 ปีข้างหน้าหรือเท่ากับ 16 ล้านตัน

 

ราคายางจะขึ้นหรือลงใน 8 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

 

(1) ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกปี 2013 เท่ากับ 85 ล้านคัน จีนผลิต 21 ล้านคัน สหรัฐฯ 11 ล้านคัน ปริมาณรถยนต์วิ่งทั่วโลก 1,100 ล้านคัน ใช้ยาง 9.2 ล้านตันในสัดส่วนยางธรรมชาติที่ 45% ในการผลิตยางล้อรถยนต์

(2) การผลิตถุงมือทางการแพทย์ ที่นอนฟองน้ำ ปีละ 7.5 แสนตัน มาเลเซียผลิตอันดับ 1 ไทยอันดับ 2

(3) เส้นด้าย ยางยืด 2 แสนตัน ไทยผลิตอันดับ 1

 (4) ถุงยางอนามัยเกือบ 3 หมื่นตัน หรือเท่ากับ 3 หมื่นล้านชิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็น กก. 1,000 บาท ไทยผลิตอันดับ 1

(5) จำนวนประชากรของโลกปัจจุบัน 7,000 ล้านคน ใช้ยาง 11 ล้านตัน ในปี 2050 จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน หากใช้ในอัตราเพิ่ม 3% จะใช้ยางธรรมชาติและยางเทียมเท่ากับ 25 ล้านตัน ถึงเวลานั้นยางธรรมชาติอาจไม่ล้นตลาด

(6) น้ำมันจะหมดจากโลกใน 40 ปีข้างหน้า เท่ากับว่ายางเทียมก็จะหายไป

(7) หากผลผลิตยางมาก การใช้ถุงมือยางธรรมชาติแทนถุงมือพีวีซีจะมากขึ้น เพราะราคาลดลง หรือมีการเปลี่ยนสัดส่วนใช้การธรรมชาติมากขึ้นในยางล้อ

(8) ภาวะเศรษฐกิจโลก หากจีนโตต่อเนื่อง รวมทั้งบราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ปริมาณยาง 11 ล้านตันในขณะนี้ไม่เพียงพอแน่

 

ขณะที่ทางด้าน นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคายางที่ทรุดตัวลงหนักตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สาเหตุมาจากผู้ส่งออกไทยเร่งส่งออกในช่วงปลายปีที่รัฐบาลยกเว้นการเก็บเงินเซสหรือเงินสงเคราะห์เป็นเวลา 4 เดือน ทำให้สต็อกที่จีนซื้อพุ่งขึ้นมามาก เมื่อรวมสต็อกของรัฐบาลไทย 2.2 แสนตัน จีน 2 แสนกว่าตัน สต็อกของผู้ส่งออกไทยและญี่ปุ่นรวมแล้วตกประมาณ 5 แสนตัน ใน 2 ปีข้างหน้านี้ จึงเป็นเรื่องยากที่ราคาจะปรับขึ้น แต่ราคาจะลงกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาลไทย และความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ หากร่วมมือกันไม่ได้น่าเป็นห่วง

 

นายบุญส่งกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นในระยะกลาง-ยาว ต้องปรับปรุงพันธุ์ยางที่ให้น้ำยางมากกว่า เช่น พันธุ์ RRIT 251, RRIT 408 หรือของเอกชนพันธุ์ JVP 80 ที่ให้น้ำยางมากกว่า 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี จะทำให้ลดต้นทุนผลิตยางจากกิโลกรัมละ 64.19 บาทเหลือเพียง 30 กว่าบาทต่อกิโลกรัม

 

นอกจากนี้ ต้องลดต้นทุนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้เศษซากวัสดุ เช่น ซังปาล์มมาหมัก และใช้ พ.ด.2 กับกากน้ำตาลมาผสม หรือจะทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ต้นทุนการใส่ยางต่อครั้งจะลดลงมาเหลือต้นละ 1 บาทเท่านั้น หากใส่โดโลไมท์ด้วย จะทำให้ยางเปลือกนิ่ม ดินไม่แข็ง อีกประการหนึ่งคือ การปลูกต้นจำปาทอง บริเวณที่ว่างหัวไร่ปลายสวน จะขายต้นไม้ได้ถึงต้นละ 2 หมื่นบาท

 

ด้าน นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยต้องเตรียมตัวเองและรัฐต้องช่วยด้วย ต้องมีการพัฒนาบุคลากร รัฐต้องจัดการศึกษาช่วย เทคโนโลยีการผลิตที่ส่วนใหญ่จะได้มาจากผู้ขายเครื่องจักร ต้องรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เครื่องมือทดสอบยางล้อต้องได้มาตรฐาน ห้องแล็บ รัฐต้องเข้ามาช่วยเพื่อความเชื่อถือ มาตรฐานยางประเภทต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน ไทยต้องร่วมเขียนร่วมทำมาตรฐาน งานวิจัยและพัฒนา บริษัทไทยยังเล็ก ไม่ใหญ่เท่าญี่ปุ่น รัฐต้องช่วยเครื่องมือและกำลังคน การตลาด รัฐต้องช่วยหาตลาดต่างประเทศ