ECONOMICS

หนี้สาธารณะแตะ 45% พุ่งจากเดือนก่อน 1.6 หมื่นล้านบาท
POSTED ON 06/03/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค.2557 มีจำนวน 5.46 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45.75% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.62 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นหนี้ต่างประเทศ 3.75 แสนล้านบาท หรือ 6.87% และหนี้ในประเทศ 5.09 ล้านล้านบาท หรือ 93.13% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 5.36 ล้านล้านบาท หรือ 98.17% และหนี้ระยะสั้น 9.99 หมื่นล้านบาท หรือ 1.83% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

 

ทั้งนี้ สถานะหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค.2557 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.13 หมื่นล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.38 พันล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 5.36 แสนล้านบาท ลดลง 443 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของหน่วยงานอื่น 834 ล้านบาท

 

สำหรับหนี้ของรัฐบาลที่กู้โดยตรงนั้น เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าราว 1.33 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 1.05 พันล้านบาทจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 655 ล้านบาท ขณะที่หนี้ในประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 280 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการออกพันธบัตรเพื่อไปคืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง

 

นอกจากนี้ หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ในส่วนของหนี้ต่างประเทศนั้น เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.52 พันล้านบาท ส่วนหนี้ในประเทศเพิ่มขึ้น 1.06 พันล้านบาท ขณะที่หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.99 พันล้านบาท จากการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ส่วนหนี้ในประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.2 พันล้านบาท

 

นางสาวจุฬารัตน์ กล่าวอีกว่า หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ในส่วนของหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 75 ล้านบาท ส่วนหนี้ในประเทศลดลง 367 ล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้ สำนักวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงินสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพราะไร้ปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซา ซึ่งเห็นสัญญาณชัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐชะงักลงจากการที่รัฐบาลยังจัดตั้งไม่ได้ เมื่อผนวกเข้ากับปัญหาทางการเมือง ยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุน ส่วนการส่งออกที่หลายสำนักมองว่าจะเป็นพระเอกฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นนั้น สำนักวิจัยฯ กลับมองว่าการส่งออกดูดีในทางเทคนิคเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วน่าเป็นห่วง

 

โดยสรุป สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะถดถอย โดยอาจหดตัว 1.6% ในไตรมาสแรก และหดตัว 0.3% ในไตรมาส 2 แต่เชื่อว่าถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายในไตรมาส 3 และฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ เศรษฐกิจจะกลับมาเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มองว่าทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.4% ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการที่เคยคาดการณ์การเติบโตจีดีพีปี 2557 ไว้ที่ 3.4% เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว