ECONOMICS

การเมืองฉุดกำลังซื้อ แต่สัญญาณเศรษฐกิจระยะสั้นเริ่มดีขึ้น
POSTED ON 06/03/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณทางที่ดีขึ้นในระยะสั้น เห็นได้จากการสำรวจดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในเดือนมกราคม 2557 อยู่ในระดับทรงตัวแม้จะยังติดลบอยู่ 6.4% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ก็ตาม แต่ในส่วนของอัตราการใช้กำลังการผลิตพบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 61.76% จากเดือนธันวาคมปีก่อนอยู่ที่ 59.90% และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม 2557 น่าจะขึ้นไปที่ระดับ 66-67% เนื่องจากผู้ประกอบการจะเร่งผลิตสินค้าเพื่อรองรับการหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน 2557

 

"ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญเริ่มฟื้นตัว มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในช่วงนี้จะเกิดสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองก็ตาม แต่เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมพึ่งตลาดส่งออกเป็นหลักปัจจัยทางการเมืองจึงส่งผลกระทบไม่มากนัก" นายสมชาย กล่าว

 

ส่วนเอ็มพีไอในช่วงไตรมาสแรกจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่นั้น หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอมรับว่าคงไม่สามารถขึ้นมาเป็นบวกได้ จากที่เคยอยู่ระดับ 2.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติเหมือนกับช่วงต้นปีก่อน ขณะที่ตัวเลขจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วที่ติดลบ 2.9 % ได้หรือไม่นั้น คงต้องประเมินอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม

 

นายสมชาย กล่าวอีกว่า การที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้นนั้น เนื่องจากการผลิตรายอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมปีนี้ ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.69% เมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งปีติดลบ 5.70 % โดยอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.60% แต่เครื่องใช้ไฟฟ้ายังติดลบ 1.01%  ซึ่งมีปัจจัยจากการผลิตสินค้าในกลุ่มไอซี ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น จากการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.92% จากที่ปีก่อนติดลบ 1.58% และส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.49% จากที่ปีก่อนติดลบ 1.88% 

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากนี้ไปจะหดตัวลดลงหรือไม่ เนื่องจากในเดือนมกราคม 2557 การผลิตรถยนต์ลดลงไปถึง 54.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศจากนโยบายรถคันแรกไปแล้ว รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่จะฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมยังปรับตัวลดลงจากปีก่อน 2.1% ขณะที่การส่งออกภาพรวมลดลง 6.9% เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก

 

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศเดือนมกราคม มีปริมาณ 1.42 ล้านตัน ลดลง 19.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.58 ล้านตัน ลดลง 10.20% เนื่องจากปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและลดปริมาณสินค้าในคลังสินค้าเพื่อรอดูทิศทางในอนาคต

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนั้นจะต้องเฝ้าติดตามการบริโภคในประเทศว่ากำลังซื้อจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญว่าจะมีการขยายตัวมากน้อยเพียงใดจากสถานการณ์การเมืองในประเทศและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น