COLUMNIST

"Smart Grid" ระบบบริหารจัดการไฟฟ้าด้วยไอที
POSTED ON -


ที่มารูปภาพ : Michigan Engineering, University of Michigan

 

ถ้าจะมีใครสักคนบอกว่า ต่อไปประเทศไทยในแต่ละจังหวัดจะบริหารจัดการระบบไฟฟ้าเองโดยบริษัทเอกชน ไม่ต้องพึ่งพาการไฟฟ้าทั้งสาม (กฟผ. / กฟภ. / กฟน.) คงไม่มีใครฟังหรือไม่ก็หัวเราะเยาะ แต่เรื่องน่าหัวเราะนี้เองอาจจะกำลังกลายเป็นความจริงในอนาคตอันใกล้ เมื่อพลังงานมีน้อยลง หายาก และราคาแพงอย่างต่อเนื่อง ระบบการส่งกระแสไฟฟ้าแบบใช้ครึ่งทิ้งครึ่งเหมือนปัจจุบันอาจตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านพลังงานในอนาคตไม่ได้ ท่านที่เริ่มเป็นผู้สูงอายุหากหมั่นหายใจยาวๆ คงจะได้เห็นแน่นอน

 

พลังงานเป็นยิ่งกว่าปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าที่เราจะช่วยกันสร้างสมมติฐาน (scenario) ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไฟฟ้าพลังงานลึกลับที่เราไม่เคยเห็นตัวตน แต่มีหลากหลายมิติ เป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางด้านพลังงาน มีความเกี่ยวพันกับปากท้องของประชาชนโดยตรง เป็นธุรกิจ เป็นสาธารณูปโภค เป็นโครงสร้างพื้นฐานและเป็นสิ่งที่เรากับท่านขาดมันไม่ได้

 

Smart Grid คืออะไร?

 

สมาร์ทกริด (Smart Grid) คือ ระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร (Information Technology) ความอัจฉริยะของสมาร์ทกริดจะช่วยคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานทดแทนให้เหมือนโรงไฟฟ้าโรงเดียวกันและสอดคล้องกับปริมาณการใช้งานจริง เนื่องจากไฟฟ้าผลิตแล้วต้องใช้ทันที หากจัดเก็บจะมีต้นทุนสูง สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ลดความสูญเปล่าของการสรองการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีการนำมาใช้

 

ตัวอย่างเช่น ในประเทศอุตสาหกรรม ช่วงเวลากลางวันจะมีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก แต่กลางคืนจะใช้ไฟฟ้าน้อย เมืองท่องเที่ยวจะใช้ไฟฟ้ากลางวันน้อยกว่ากลางคืน เมืองหนาวใช้ไฟฟ้ามากในช่วงฤดูหนาว หรือแม้แต่เสาร์อาทิตย์และวันทำงานก็ยังใช้ไฟฟ้าแตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่ง Smart Grid ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ โดยทั้งระบบของสายส่งจะเป็นดิจิตอล มีการประเมินผลที่แม่นยำ รวดเร็ว ไม่ต่างกับสมาร์ทโฟน ช่วยลดความสูญเปล่า และไม่ต้องมีคนมาจดหรือตรวจมิเตอร์ ซึ่งระบบไอทีจะอ่านค่าและประเมินโดยอาศัยข้อมูลย้อนหลัง จึงไม่ต้องกลัวว่าใครจะโกงค่าไฟฟ้าอีกต่อไป

 

Smart MicroGrid คืออะไร?

 

สมาร์ท ไมโครกริด (Smart MicroGrid) คือสถานีไฟฟ้าย่อยในแต่ละพื้นที่ เช่น ในจังหวัด หรือบนเกาะต่างๆ ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าแบบอิสระในบริเวณนั้น หรืออาจจะเชื่อมโยงกับสถานีใหญ่ ก็สุดแล้วแต่ความสะดวก โดยมีเป้าหมายให้เกิดการผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้เสมือนหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าโรงเดียว ดูแลและรับผิดชอบกันเองในบริเวณนั้นๆ

 

เมื่อ MicroGrid มาผสมผสานกับ Smart Grid ก็จะกลายเป็นสถานีไฟฟ้าย่อยอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น กลางวันใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนกลางคืนก็อาจต้องมีไฟฟ้าจากแหล่งอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาจมีไฟฟ้ากระแสหลักจากส่วนกลางคอยแบ็คอัพตามปริมาณที่เพียงพอ ไม่ต้องสำรองมากเกินไป และนี่คือระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะ หรือที่เรียกว่า "Smart MicroGrid"

 

Smart MicroGrid มีประโยชน์อย่างไร?

 

ถ้าจะถามหาเหตุผลว่า Why Smart MicroGrid? คงตอบกันหลายหน้ากระดาษ ประเด็นหลักๆ ก็คือ ลดความสูญเปล่าของกระแสไฟฟ้าที่ต้องสำรอง และส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนหรือคนในจังหวัดนั้นๆ ต้องร่วมมือกันรับทั้งผิดและชอบ สายส่งต้องไปถึงทุกหมู่บ้าน ไม่ใช่รอสายส่งตามแผนงานของการไฟฟ้าส่วนกลางอย่างปัจจุบัน ก็คงคล้ายกับการแยกจังหวัดให้มีการปกครองดูแลง่ายขึ้นและทั่วถึง ซึ่งเป็นการพัฒนาการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งาน DG (Distributed Generation) โดย Smart MicroGrid มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและการใช้โครงข่ายอัจฉริยะ ลดปัญหาไฟฟ้าตกและดับ หรือไฟดับทั่วทั้งภาค นอกจากนี้ ยามฉุกเฉินในเขตทหารจะมีไฟฟ้าใช้งาน เป็นต้น

 

ดังนั้น ผู้นำด้านไอทีอย่างเกาหลีใต้จึงเร่งทดสอบโครงการ Smart MicroGrid หากสำเร็จเมื่อไหร่คงได้ขายอุปกรณ์แบบเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว นักซื้อเทคโนโลยีแบบไทยคงต้องอดใจรอและเตรียมตัวเตรียมใจสู่โลกดิจิตอลที่มนุษย์จะถูกควบคุมด้วยไอที

 

ด้าน Smart MicroGrid ถึงแม้จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังอาจมีปัญหาอีกมากมายในการเชื่อมโยงไฟฟ้าจากหลายๆ แหล่งผลิตที่มีพื้นฐานเทคโนโลยีแตกต่างกันมาให้กลายเป็นเสมือนโรงไฟฟ้าโรงเดียวกัน

 

ที่มารูปภาพ : ABB

 

ทำไมทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนา Smart MicroGrid?

 

ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศต่างมุ่งวิจัยพัฒนาและสร้างโครงการนำร่อง (Smart MicroGrid Test-bed) ในส่วนของยุโรปมี 7 โครงการนำร่องเป็นอย่างน้อย ประเทศญี่ปุ่นมีโครงการสาธิต 5 โครงการ ประเทศแคนาดามีโครงการสาธิต 3 โครงการ ประเทศออสเตรเลียมีโครงการสาธิต 1 โครงการ และสหรัฐอเมริกามีโครงการสาธิต 5 โครงการ ซึ่งต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

 

หากจะถามว่าแล้วเดิมพันสำหรับการทุ่มเทนั้นคืออะไร? การแย่งชิงกันเป็นผู้นำ Smart MicroGrid เพื่อชื่อเสียงเช่นนั้นหรือ? อาจถูกไม่หมด เดิมพันรอบนี้สูงกว่าที่คิดไว้มาก เพราะ Smart MicroGrid คืออีกธุรกิจหนึ่งของโลกที่ขายเทคโนโลยีโดยมีไอทีเป็นตัวรองรับ ไม่ได้ขายสินค้า แต่ขายโซลูชั่น ขายบริการ ที่ราคาผูกอยู่กับความพึงพอใจ ความเชื่อใจ ง่ายกว่าการขายข้าวเป็นไหนๆ ไม่ต้องประกันราคาหรือจำนำแต่ประการใด

 

ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอบคุณ KEPCO และโครงการ Smart Energy Networking ประเทศเกาหลีใต้ ที่จัดสัมมนาโครงการนี้ให้กับนานาชาติปีละ 3 ครั้ง สำหรับประเทศไทยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจะประสานงานและเชิญชวนผู้เหมาะสมเข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากไทยเราให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนและระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งยังขาดความมั่นคง ดังนั้น Smart Grid อาจเป็นคำตอบสุดท้ายของไทยในการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ต้องเป็น Smart Grid พันธุ์แท้ ไม่ใช่แค่ซื้ออุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าแจก

 

สำหรับท่านผู้เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าของประเทศ หากท่านสละเวลาไปเยี่ยมเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ดูสักครั้ง เชื่อได้ว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยหัวใจจะมีแต่... สมาร์ทกริด สมาร์ทกริด และ สมาร์ทกริด