COLUMNIST

ดูให้รอบ ก่อนลงทุน Wood Pellet พลังงานอัดแท่งจากธรรมชาติ
POSTED ON -


 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนเริ่มได้ยินผู้ประกอบการหลายท่านพูดถึง "เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง" (Wood Pellet) มากขึ้นในหลากหลายแง่มุม และเท่าที่ทราบมาก็มีหลายท่านที่สนใจอยากจะลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงประเภทนี้อยู่พอสมควร แต่อาจจะยังมีข้อมูลไม่มากพอ ผู้เขียนจึงอยากลองมาแชร์ทัศนะกับผู้อ่านเกี่ยวกับ "เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง" (Wood Pellet) ดูบ้าง เผื่อท่านใดที่กำลังวางแผนการลงทุนกับธุรกิจเชื้อเพลิงประเภทนี้อย่างจริงจังไว้บ้างแล้ว

 

สิ่งที่อยากบอกอันดับแรกสำหรับท่านที่กำลังสนใจ "ชีวมวลอัดแท่ง" ในเชิงธุรกิจว่า การลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงอัดแท่งนี้จะต้องทำความเข้าใจให้รอบด้านว่ามีความเสี่ยงและความน่าสนใจในการลงทุนมากน้อยเพียงใด? ตลาดมีที่ใดบ้างที่ยังมีปริมาณการรับซื้อที่สูง? มากพอหรือไม่อย่างไร? รวมถึงปัจจุบันมีผู้ลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงเพลิงชีวมวลแล้วกี่ราย? เพียงพอกับความต้องการของตลาดหรือไม่? หากมีเยอะและมากเกินความต้องการของตลาดแล้ว การลงทุนอาจจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ไม่น่าลงทุน

 

หลายครั้งที่บ้านเราลงทุนกันเยอะ จนทำให้ธุรกิจที่ดีล้มหายตายจากกันไป ถ้าจะให้เห็นภาพ อยากให้ทุกท่านลองนึกถึง "ธุรกิจหมูกระทะ" ที่เมื่อหลายปีก่อนมีนักธุรกิจมือใหม่มือเก่าหลายท่านที่ลงทุนลงแรงกับธุรกิจนี้  แต่ผลที่ได้คือการล้มหายตายจากกันไปทีละคนสองคน เนื่องจากซัพพลายมากกว่าดีมานด์

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนคิดที่จะลงทุนกับธุรกิจเชื้อเพลิงอัดแท่ง คือ

 

1. ท่านจะขายให้ใคร? ผู้ซื้อมีกำลังซื้อมากแค่ไหน? กี่ตันต่อเดือน/ต่อปี? รับซื้อตลอดทั้งปีหรือไม่? มีการเซ็นสัญญารับซื้อหรือไม่? ราคาขึ้นลงอย่างไรบ้าง? อย่าลืมว่าการลงทุนมูลค่าหลายล้านบาท แต่ทำได้พักเดียวอันนี้คงจะเหนื่อยและสูญเปล่า อย่าทำธุรกิจเพียงเพราะเห็นแค่ตัวเลขที่คาดว่าจะได้

 

2. วัตถุดิบในการป้อนโรงงานหาจากที่ใด? วัตถุดิบมีเพียงพอตลอดทั้งปีหรือไม่? ราคาซื้อเข้าวัตถุดิบมีการแกว่งตัวหรือไม่? อย่างไร? อย่าลืมว่ามันเป็นเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ ดังนั้น ปริมาณจึงมีมากมีน้อยในแต่ละปีไม่เท่ากัน

 

3. เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต หลายท่านต้องมานั่งปวดใจกับเครื่องจักรที่ตัวเองซื้อมา แต่ใช้ผลิตไม่ได้ ผลิตไม่ได้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผลิตสินค้าไม่ได้ แต่หมายถึงผลิตไม่ได้คุณภาพที่ครอบคลุมความต้องการของตลาด เช่น ขนาดของเม็ดเชื้อเพลิง ความแน่น ความชื้นภายใน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อราคาขายของวัตถุดิบทั้งสิ้น รวมไปถึงการสูญเสียจากการผลิตที่เกิดขึ้น การรีโพรเซส ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนแทบทั้งสิ้น

 

4. ต้นทุนในการผลิต ในที่นี่จะไม่กล่าวรวมถึงราคาวัตถุดิบ แต่จะกล่าวถึงเรื่องของแรงงาน และเครื่องจักร ตั้งแต่ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าต้นทุนคงที่ จะต้องพิจารณาสถานที่ตั้งของโรงงานด้วย เอาแค่ค่าไฟฟ้าที่จ่ายกันแบบ TOU TOD ก็ทำให้ต้นทุนที่ได้แตกต่างกันแล้ว

 

ขณะที่วัสดุที่ใช้นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเองก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ ขี้เลื่อย เง่ามันสำปะหลัง  ซังข้าวโพด เปลือกไม้ เป็นต้น ซึ่งก็พอจะสรุปได้ว่าอะไรก็ตามที่มาจากธรรมชาติสามารถนำมาบดอัดเป็นพลังงานอัดแท่งได้เกือบทั้งหมด ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทก็จะให้คุณภาพพลังงานที่แตกต่างกันออกไป มากน้อยขึ้นอยู่กับพื้นฐานค่าพลังงานของวัตถุดิบตั้งต้นประเภทนั้นๆ

 

หากไปมองในด้านของกระบวนการผลิต อาจจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 คือ การทำความสะอาดวัตถุดิบ ด้วยการร่อนแยกเศษวัสดุอื่นออกจากวัตถุดิบ รวมถึงสิ่งที่อาจปะปนมาในรูปของเศษหิน ปูน หรือวัสดุโลหะ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เครื่องจักรเสียหายได้

 

ขั้นตอนที่ 2 คือ การย่อยวัตถุดิบให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถนำไปอัดเป็นเม็ดหรือแท่งขนาดเล็ก ด้วยการอัด กด เพรส ตามแต่เทคโนโลยีที่จัดหาไว้

 

ขั้นตอนที่ 3 คือ การอบให้วัตถุดิบแห้งและมีความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่าต้องการและกำหนดสเปคขั้นต่ำไว้เท่าใด โดยคุณสมบัติทั่วไปที่ผู้รับซื้อมักจะนำเป็นข้อกำหนดในการรับซื้อ ได้แก่

 

  ค่าความร้อน (Heating Value)

  ตั้งแต่ 4,000 – 5,000 Kcal/kg.

  ค่าความชื้นแฝง (Moisture Content)

  8-15%

  ขี้เถ้า (Ash Content)

  ต้องน้อยกว่าร้อยละ 5

  ขนาด (Sizing)

  โดยส่วนใหญ่ที่พบคือ Ø ≤ 10 มม.

 

สำหรับเบื้องต้นขอให้ข้อมูลคร่าวๆ ไว้เท่านี้ก่อน ในบทความถัดไปผู้เขียนจะกล่าวถึงเชื้อเพลิงแต่ละชนิด รวมถึงปัญหาต่างๆ จะเอามาแชร์ให้ได้ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทุกๆ ท่าน