BUSINESS

"บลูพิน" ลุยหนักตลาดอาเซียน ตั้งเป้าโต 15%
POSTED ON 26/02/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายถาวร กนกวลีวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูพิน อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ บลูคอนเนอร์, คลาสสิฟาย และพอร์ตแลนด์ เปิดเผยว่า ในส่วนของบริษัท บลูพิน อินเตอร์เทรด ยอดขายปี 2556 เพิ่มขึ้น 5-7% จากปี 2555 ซึ่งยังต่ำกว่าคาดการณ์ที่บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะขยายตัว 15-20% เพราะปีก่อนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจภายใน กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและธุรกิจค้าปลีก เริ่มตั้งแต่กลางปี และเห็นผลในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นมา เพราะผู้บริโภคมีหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งจากโครงการให้สินเชื่อรถคันแรก ทำให้ประชาชนมีภาระในการผ่อนเช่าซื้อรถ และลดการจับจ่ายในส่วนของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง ประกอบกับเมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมือง ได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลง โดยเฉพาะจุดจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯลดลงถึง 50% ของยอดปกติ และในปีที่ผ่านมายังมีคู่แข่งสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน และตั้งร้านจำหน่ายมากขึ้น

 

"ปกติกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวมีสัดส่วนประมาณ 30% เมื่อเกิดการชุมนุมยืดเยื้อก็ยกเลิกการเดินทาง หรือเปลี่ยนเป้าหมายไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่น ซึ่งหากแบรนด์ใดมีสถานที่จำหน่ายในเมืองท่องเที่ยวอื่น เช่น เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ก็ยังสามารถรักษายอดการเติบโตได้ประมาณ 30% แต่สาขาน้อยกว่าในกรุงเทพฯ จึงชดเชยได้ไม่พอ ส่วนกลุ่มลูกค้าคนไทยในประเทศ ปัญหาไม่ใช่เรื่องชุมนุม เพราะสามารถเปลี่ยนสถานที่จับจ่ายไปบริเวณที่ไม่มีการชุมนุมแทนได้แต่กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการมีภาระผ่อนรถผ่อนบ้านมากขึ้นจึงทำให้ยอดทั้งสองส่วนลดลง" นายถาวร กล่าว

 

สำหรับแผนการปรับตัวในปี 2557 ทางบริษัทฯ ตั้งเป้าขยายตัว 10-15% ซึ่งไม่ได้สูงกว่าเป้าหมายเดิมในปีที่ผ่านมามากนัก โดยจะพยายามมุ่งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หลังจากที่ยอดขายปีที่ผ่านมาของสาขาในพื้นที่ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ดีขึ้นมากในปีที่ผ่านมา อาจจะมีทั้งการจัดจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า และตั้งร้านจำหน่ายแบบสแตนด์อะโลน

 

นายถาวร กล่าวว่า ในปีนี้บลูพินฯ จะขยายการจัดจำหน่ายไปยังตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น ล่าสุดขณะนี้ได้เริ่มตั้งสาขาแห่งแรกในเมียนมาร์แล้ว และในปีนี้คาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนสาขา และจัดหาพันธมิตร เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศกัมพูชาและอินโดนีเซีย เพื่อส่งสินค้าของบริษัททั้ง 3 แบรนด์ คือ บลูคอนเนอร์ คลาสสิฟาย และพอร์ตแลนด์ออกไปเจาะตลาด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมี 5-10% ของรายได้ทั้งหมดให้ได้มากขึ้น

 

"ถึงแม้ว่าฐานการส่งออกจะยังมีไม่มาก แต่แนวโน้มคาดว่าอัตราการเติบโตน่าจะดีกว่าในประเทศ และมีตัวเลขที่ชัดเจนกว่า เพราะกลุ่มอาเซียนก็มีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาเราได้พยายามศึกษา โดยเริ่มไปออกงานแฟร์ ทั้งงาน BIFF&BIL ทุกปี ส่วนหนึ่งได้ลูกค้า และส่วนหนึ่งได้การประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ลูกค้าต่างชาติรู้จัก และหลังจากได้พันธมิตรประเทศเพื่อนบ้านที่ดี เราได้อาศัยข้อมูลจากพันธมิตร เพื่อศึกษาสินค้าปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศที่อาจจะต่างกัน ไซซ์หรือสีที่ไม่เหมือนกัน แล้วจึงออกไปผ่านห้างบ้าง หรือตั้งร้านสแตนด์อะโลนบ้าง" นายถาวร กล่าว

 

ในส่วนของภาคการผลิตของบลูพินฯ ปัจจุบันอยู่ที่กรุงเทพฯ และว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ มีกำลังการผลิตประมาณ 60-70% และอีก 40% ไปร่วมลงทุนกับผู้ผลิตในประเทศจีนในแบรนด์ของบริษัทฯ และควบคุมการออกแบบผ้าและการตัดเย็บเอง ทั้งนี้ บริษัทฯ วางอนาคตว่าจะมุ่งเน้นการพัฒนาการออกแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และมีความเป็นสากล มุ่งเน้นการรักษาคุณภาพมากขึ้น พัฒนาแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ และเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนการนำเข้าแบรนด์ เราคัดเลือกแบรนด์ที่มีศักยภาพ ก็ได้รับผลการตอบรับดีพอสมควร ยังต้องประเมินผลอีกสักระยะหนึ่ง

 

"ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ต้นทุนค่าแรง แต่เราพยายามเลี่ยงไม่ปรับราคาในทันที แต่ไปเน้นเรื่องการลดต้นทุนและทำคุณภาพให้ดีขึ้น และพยายามออกแบบให้ตอบโจทย์ เพราะปรับราคาไม่ได้เศรษฐกิจไม่ดี ในตลาดจึงไม่มีใครกล้าปรับราคา ทั้งที่ต้นทุนขยับขึ้นมาก ถ้าปรับจริงๆ ต้องขึ้นราคาถึง 20-30% ถึงจะครอบคลุมต้นทุน เพราะไม่ใช่เฉพาะค่าแรงของเราที่สูง แต่มีค่าแรงของผู้ผลิตวัตถุดิบที่ซ้อนเข้ามาอีก และปลายน้ำมีพนักงานขาย เรียกว่าปรับตลอดห่วงโซ่การผลิต" นายถาวร กล่าว

 

ส่วนการขยายฐานการผลิตไปในอาเซียน ทางบริษัทพิจารณาหลายพื้นที่ เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้รอบคอบ ทั้งสถานที่รับจ้างผลิต ค่าแรง และจำนวนแรงงาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ มีจุดได้เปรียบเรื่องค่าแรง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการปรับค่าแรงงานสูงขึ้น เพราะโรงงานเครื่องนุ่งห่มที่ขยายออกไปมุ่งไปลงทุนกลุ่มนี้มาก

 

"เราออกไปต้องพิจารณาเรื่องหลัก คือ ค่าแรงไม่แพงกว่าเรา และจำนวนแรงงานไม่ขาดแคลนในระยะยาว และยังต้องไปดูกฎหมายลงทุน เพราะอย่างพม่าก็ยังไม่ได้เปิดมากเท่าที่ควร และต้องดูการสนับสนุนของภาครัฐ ว่าจะสนับสนุนการไปลงทุนแค่ไหน อย่างเรื่องการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกรณีที่นักลงทุนออกไป และนำรายได้กลับมาต้องเสียภาษีทั้งประเทศที่ไปลงทุน และเสียภาษีในไทยอีก ซึ่งกฎนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งที่เอกชนขอมานานแล้ว" นายถาวร กล่าว