BUSINESS

TPARK ซื้อที่กว่า 200 ไร่ในขอยแก่น พัฒนาเขตอุตฯ โลจิสติกส์
POSTED ON 12/02/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนลงทุนปี 2557 ว่า ทั้ง ไทยคอน และบริษัทลูก คือบริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด หรือ TPARK ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เต็มรูปแบบและคลังสินค้าให้เช่า ใช้เงินลงทุนรวมจำนวนกว่า 8 พันล้านบาทในการขยายธุรกิจ

 

โดยเงินทุนดังกล่าวจะแบ่งเป็น การลงทุนของไทยคอน สำหรับขยายโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 2 พันล้านบาท และอีกประมาณ 6 พันล้านบาท สำหรับ TPARK ใช้ในการซื้อที่ดินแห่งใหม่สำหรับก่อสร้างและพัฒนาคลังสินค้าสำหรับให้เช่าแห่งใหม่

 

ทั้งนี้ การสร้างโรงงานสำเร็จรูปแห่งใหม่จะเกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย สุวรรณภูมิ ที่ไทยคอนเพิ่งซื้อที่ดินมาจำนวน 100 ไร่ สามารถสร้างโรงงานสำเร็จรูปได้ราว 5-6 หมื่นตารางเมตร หรือประมาณ 30 โรงงาน ถ้าขยายพื้นที่ใหม่ได้ภายในปีนี้จะทำให้บริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านตารางเมตร

 

นายวีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงงานสำเร็จรูปกระจายอยู่ทั่วประเทศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 15 แห่งตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีลูกค้ารวม 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยลูกค้าส่วนมากจะเป็นซัพพลายเชนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮอนด้า แคนนอน นิคอน พานาโซนิก เป็นต้น

 

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มไทยคอนคาดว่าผลประกอบการรวมปี 2556 น่าจะทำได้ตามเป้าที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ คือ มีรายได้รวมประมาณ 8 พันล้านบาท ส่วนรายได้ที่จะออกมาเป็นเท่าใดนั้นจะต้องรอแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนภายในเดือนมีนาคม 2557 นี้

 

ส่วนการดำเนินการในปี 2557 ในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมการดำเนินธุรกิจอาจจะชะลอไปบ้าง เนื่องจากมีลูกค้าต่างชาติจำนวนหนึ่งมีกำหนดจะเดินทางมาดูโรงงานสำเร็จรูป แต่ล่าสุดได้ชะลอไปก่อนจนกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะกลับสู่ภาวะปกติ

 

สอดคล้องกับที่ นายปธาน สมบูรณสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด หรือ TPARK กล่าวถึงแผนลงทุนในส่วนของบริษัทในฐานะบริษัทลูกว่า เฉพาะบริษัทลูกจะลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ 4 พันล้านบาทจะใช้สำหรับก่อสร้างและพัฒนาคลังสินค้า เช่น สร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ในภาคเหนือพื้นที่ตั้งแต่ 80-100 ไร่ ลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนอีก 2 พันล้านบาท จะซื้อที่ดินใหม่ ในโซนเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่บริเวณบางนาตราด และบางพลี   ซึ่งมีพื้นที่อยู่จำนวน 1,404.24 ไร่ โดยจะเพิ่มในส่วนพื้นที่บางนาอีกประมาณ 300 ไร่ ส่วนพื้นที่บริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด   1,710.85 ไร่ จะเป็นการขยายคลังสินค้าเพิ่มขึ้น

 

สำหรับสาเหตุที่ TPARK มีการลงทุนในปีนี้จำนวนมากทั้งที่ประเทศไทยยังอยู่ในบรรยากาศที่การเมืองคุกรุ่น นั้น เนื่องมาจาก  (1) ลูกค้ามีแผนขยายตัวผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดส่งออกมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ จากเดิมผลิตขายในประเทศเป็นหลัก (2) ลูกค้าขานรับเออีซีโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น โดยมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน (3) แนวโน้มการใช้เอาต์ซอร์ตด้านโลจิสติกส์จะมีมากขึ้น และ (4) ยังมองว่าค้าปลีกค้าส่ง และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าส่วนใหญ่ลูกค้าจะใช้คลังสินค้าและมีการขนส่งทางถนนเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ TPARK มีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งหมด 3 โซน คือ โซนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค่าคอนซูเมอร์โปรดักต์ และโมเดิร์นเทรด, โซนบางนา-บางพลี ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งฐานผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์ อาทิ รถยนต์โตโยต้า และพื้นที่ในโซนอีสเทิร์นซีบอร์ด ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้านำเข้า-ส่งออก

 

ทั้งนี้ ภายในปี 2557 บริษัทฯ จะให้น้ำหนักกับพื้นที่บางพลีที่จะกระจายสินค้าเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น  ส่วนที่อยุธยา หลังน้ำท่วมความต้องการใช้คลังสินค้าเริ่มกลับมาแล้ว จะเป็นประตูขนส่งไปภาคเหนือและอีสาน

 

"พื้นที่ใหม่ที่จะขยายคลังสินค้านั้น  อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เนื่องจาก ต้องการกระจายความเสี่ยงจึงต้องขยายไปในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ วิธีการพัฒนาด้านระบบขนส่งเริ่มเปลี่ยนไป เพราะประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายจะมีมากขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด และจะเป็นประตูไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเป็นศูนย์กระจายสินค้า ที่ขยายตัวตามค้าปลีก-ค้าส่ง และโมเดิร์นเทรด ที่กระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น" นายปธาน กล่าว

 

ปัจจุบัน TPARK มีเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทั้งสิ้น 28 โครงการ ในจำนวนนี้นอกจากอยู่ในโซนอยุธยา ระยอง สมุทรปราการ แล้วยังรวมคลังสินค้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและสุราษฎร์ธานีด้วย บนที่ดินรวมทั้งสิ้น 4,692 ไร่ และคลังสินค้าที่มีผู้เช่าแล้ว รวมพื้นที่กว่า 773,671 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ มีพื้นที่คลังสินค้าทั้งสิ้น 1.6  ล้านตารางเมตร

 

นายปธาน ยังกล่าวถึงการขยายโครงการด้วยว่า เมื่อปี 2556 ทาง TPARK เดินหน้าขยายโครงการแห่งใหม่ในทำเลยุทธศาสตร์โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ติดนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และบริเวณบางนา-ตราด กม. 20-40 เป็นต้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขวางขึ้น และรองรับความต้องการคลังสินค้าเมื่อข้อตกลงทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558 ในขณะเดียวกัน TPARK ก็วางแผนขยายโครงการในทำเลเดิมที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ดี เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น TPARK ศรีราชา และ TPARK แหลมฉบัง เป็นต้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าของ TPARK

 

สำหรับที่ดินใหม่ที่เพิ่งซื้อในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 200 ไร่ เพื่อใช้พัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และคลังสินค้าให้เช่าแห่งแรกในโซนภาคอีสาน นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก และเป็นเมืองหลวงของภาคอีสานที่เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการต่างๆ ที่เฟื่องฟู และดึงดูดอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาลงทุนมาก โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ โมเดิร์นเทรด และวัสดุก่อสร้าง ที่มีอัตราเติบโตสูงมาก ซึ่ง TPARKเล็งเห็นศักยภาพของทำเลตรงนี้ และมั่นใจว่าตลาดคลังสินค้าให้เช่าในโซนนี้จะประสบความสำเร็จ