BUSINESS

"เบทาโกร" ทุ่มสร้างโรงงานและโรงเลี้ยง คาดอีก 7 ปี ยอดขายแตะ 1.5 แสนล้านบาท
POSTED ON 10/02/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเครือเบทาโกร ผู้ผลิตและจำหน่ายปศุสัตว์ครบวงจรรายใหญ่ เปิดเผยว่า ยอดขายสินค้าของกลุ่มในปี 2556 มียอดขายรวมประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนนั้น 15% แยกเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ 1 หมื่นล้านบาท ธุรกิจไก่สดและแปรรูป 2.4 หมื่นล้านบาท ธุรกิจหมู 8,000 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1 หมื่นล้านบาท ธุรกิจยาและเคมีภัณฑ์ 6,000 ล้านบาท ธุรกิจสาขาในภูมิภาค 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดขาย 7.6 หมื่นล้านบาท รวมธุรกิจส่งออก 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทเข้าไปด้วย ขณะที่ปี 2557 ตั้งเป้าการเติบโตที่ 15% เช่นกัน

 

คาดว่าในอีก 7-8 ปีข้างหน้า ยอดขายรวมของกลุ่มเบทาโกรจะเพิ่มเท่าตัวเป็น 1.4-1.5 แสนล้านบาท จากโครงการที่จะลงทุนต่อเนื่องเป็น "ฟู้ด คอมเพล็กซ์" ในภูมิภาค และคาดว่าใกล้ปี 2020 กลุ่มเบทาโกรจะเพิ่มการผลิตลูกไก่จาก 3-4 ล้านตัว/สัปดาห์ เป็น 5 ล้านตัว/สัปดาห์ และแม่พันธุ์หมูจากเกือบ 1 แสนตัวเป็น 1.4 แสนตัว

 

นายวสิษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านการลงทุนนั้น ตามแผนปี 2010-2020 กลุ่มจะลงทุน 3,000-4,000 ล้านบาท/ปี แต่ที่ผ่านมาลงทุนจริงประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท/ปี ในปี 2557 บริษัทฯ มีแผนการลงทุน โดยอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการขยายฟาร์มปู่ ย่า พ่อ แม่พันธุ์ไก่ 6-7 ยูนิต พ่อ แม่พันธุ์หมู 5 ยูนิต ในพื้นที่ 5,000 ไร่ บริเวณพื้นที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และจะมีการสร้างโรงงานอาหารสัตว์กับโรงงานแปรรูปภาคตะวันตก กำลังการผลิตหลายหมื่นตันต่อเดือน เพื่อครอบคลุมพื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์ในภาคกลางฝั่งตะวันตกและภาคใต้ตอนบน การสร้างโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงที่ลพบุรี การเปิดสาขาเบทาโกรที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ และเปิดร้านเบทาโกร ช็อป ส่วนในต่างประเทศกำลังก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์เฟส 1 มูลค่า 600-700 ล้านบาท ที่ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังผลิต 1.2 หมื่นตัน/เดือน และ สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่ากัมพูชา

 

ส่วนสถานการณ์ธุรกิจปศุสัตว์นั้นยังมีแรงซื้อต่อเนื่องมาจาก 2 ปีที่ผ่านมา มาตรฐานการบริโภคในต่างจังหวัดมีทางเลือกมากขึ้น จากการที่ผู้ค้าส่วนกลางไปเปิดโมเดิร์นเทรดและซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมที่ต้องไปซื้อในตลาดสด คาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นไปได้อีก 2-3 ปี แต่ในช่วงนี้คือตั้งแต่ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา กำลังซื้อหายไปมากประมาณ 15-20%

 

"กำลังซื้อในประเทศระยะสั้น ทั้งหมู ไก่ ไส้กรอก คงจะลดลงมาบ้าง เพราะโมเมนตัมจากปีที่แล้วมาราคาดี ซึ่งต้องติดตามทบทวนหลังเทศกาลตรุษจีนอีกครั้ง เช่น หมูเป็นที่ราคาพุ่งเกิน 70 บาท/กก. คงจะอ่อนตัวลงมาบ้าง และไก่ที่นำเข้าเลี้ยงเพิ่มจากสัปดาห์ละ 24-25 ล้านตัวในปีที่ผ่านมา เป็น 26 ล้านตัว/สัปดาห์ ในขณะนี้ ก็ต้องมาดู หากส่งออกไม่ชะลอ ก็คงไม่มีปัญหา" นายวสิษฐ กล่าว

 

ในส่วนเบทาโกร กำลังการผลิตไม่ลดลงมาตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2556 เนื่องจากราคาปศุสัตว์ดีในช่วงครึ่งหลังปีที่ผ่านมา และยังมีแรงซื้อจากการเปิดไฟเขียวของรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไทยส่งไก่สดเข้าไปได้อีกครั้ง ดังนั้น ครึ่งปีแรกนี้น่าจะดี จากการสะสมออร์เดอร์ส่งออก ซึ่งต้นเดือนมีนาคม 2557 นี้ บริษัทฯ จะส่งไก่สดแช่แข็งเข้าญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 ตัน จากการพูดคุยกับผู้นำเข้า ผู้ค้าของญี่ปุ่นดีใจที่ไก่สดไทยจะไปญี่ปุ่น เพราะคุ้นเคยมานาน ขณะที่บราซิลมีปัญหาค่าแรงแพง และต้องใช้เวลาขนส่งนานถึง 1 เดือน ส่วนไทยใช้เวลาส่งเฉลี่ย 10 วัน จึงสดกว่า ที่สำคัญไก่สดที่ไทยจะส่งเข้าญี่ปุ่นจะมีการชำแหละเป็นชิ้นส่วนไปให้ ไม่ต้องไปชำแหละที่ญี่ปุ่นที่ค่าแรงแพง และสามารถเซตลงเมนูได้ง่าย สะดวกขึ้นมาก จึงมีแนวโน้มไปทดแทนการนำเข้าไก่สดจากบราซิลได้พอสมควร

 

สำหรับตลาดยุโรปกำลังซื้อและความต้องการสินค้าดีขึ้นมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากที่ชะลอตัวมา 2-3 ปี โดยราคาส่งออกดีกว่าที่คาดไว้ถึง 4-5% ทางด้านตลาดใหม่กำลังเจาะตลาดหมู ไก่ ไส้กรอก ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นการเจาะเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อสร้างแบรนด์ ปริมาณสั่งซื้อแต่ละรายยังไม่มาก