BUSINESS

TUF ขึ้นแท่นผู้ผลิตทูน่าเบอร์ 1 ของโลก ชี้ ไทยเป็นแหล่งทูน่าทำเลทอง
POSTED ON 04/02/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายวาย ยัท ปาโก้ ลี ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ กล่าวว่า ทียูเอฟจะนำสินค้าทูน่าบรรจุกระป๋องทั้ง 7 แบรนด์ของทียูเอฟที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศส่งออกขายประเทศใกล้เคียงมากขึ้น โดยวางแผนการทำตลาดไว้ดังนี้ แบรนด์ John West ในอังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์, Petit Navire ในฝรั่งเศส, Mareblu ในอิตาลี, Hyacinthe Parmentier ในฝรั่งเศส จะขยายในแถบยุโรปตะวันตกและตะวันออกกลาง แบรนด์ Chicken of The Sea ในสหรัฐอเมริกา จะขยายในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้, Sealect ในประเทศไทย จะขยายในอาเซียน และ Century ในประเทศจีน ซึ่งตลาดในประเทศใหญ่อยู่แล้ว

 

โอกาสที่จะทำให้การทำตลาดง่ายขึ้นคือราคาวัตถุดิบลดลง ในปีนี้ทูน่ามีราคาอยู่ที่ตันละ 1,400-1,500 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ปรับลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนที่ราคาสูงมากถึง 2,400-2,500 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจมาก เพราะในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตสูง สินค้าต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย หลายบริษัทไม่กล้าทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อราคาลดลงมาอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลแล้ว ทำให้หลายบริษัทสามารถส่งเสริมการขายกระตุ้นการบริโภคในตลาดได้มากขึ้น ทียูเอฟเองก็จะใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ทำการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เพื่อคงความเป็นผู้นำในตลาดโลก

 

ทั้งนี้ มองว่าโอกาสขยายตลาดทูน่ากระป๋องเติบโตอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนายังบริโภคทูน่าน้อย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปให้ข้อมูลและทำการประชาสัมพันธ์ เมื่อประชากรในประเทศเหล่านี้มีรายได้มากขึ้นก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น ในขณะที่ตลาดในประเทศพัฒนาแล้วมีการบริโภคทูน่ามากอยู่แล้ว ความต้องการบริโภคจึงไม่เพิ่มมากนัก

 

เช่นกันกับในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะทำตลาดแบรนด์ Sealect บริษัทวางแผนไว้ว่าจะเน้นตลาดซาร์ดีนก่อน เพราะทูน่าราคาสูง กำลังซื้อในอาเซียนยังไม่มาก ส่วนซาร์ดีนเป็นที่รู้จักและมีความนิยมบริโภคอยู่แล้ว จึงทำตลาดง่ายกว่า แต่แนวโน้มในภูมิภาคนี้จะมีการบริโภคทูน่ามากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มรายได้ประชากรจะเพิ่มขึ้น จากการทดลองตลาดไปบ้างแล้วในกัมพูชา และพม่า ได้รับการตอบรับดี ราคาจำหน่ายสูงกว่าในไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสินค้าไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก

 

ในปี 2556 ทียูเอฟมีรายได้รวมทั้งเครือ 3.6-3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจทูน่า 49% กุ้งและอาหารแปรรูปจากกุ้ง 24% อาหารแมว 7% แซลมอน 4% ซาร์ดีน 6% อาหารเพิ่มมูลค่าและอื่นๆ 10% ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้อาหารสัตว์และซาร์ดีนให้ถึง 10% และจะเพิ่มสินค้าอื่นๆ ให้ได้ 15% โดยวางเป้าไว้ว่าจะทำให้ได้ภายใน 3 ปี

 

ในธุรกิจทูน่ามีการผลิตทูน่ารวมทั้งโลกประมาณ 1.4-1.5 ล้านตัน/ปี ทียูเอฟผลิตเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นสัดส่วน 20% หรือประมาณ 280,000 ตัน แบ่งเป็นผลิตสินค้าแบรนด์ 50% และรับจ้างผลิต 50% การจะขยายการเติบโตของธุรกิจได้ต้องมีช่องทางการขายที่หลากหลาย มีสินค้าที่หลากหลาย และมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เพราะการมีตลาดหรือลูกค้าเดียว เมื่อตลาดนั้นมีปัญหาจะทำให้ธุรกิจย่ำแย่

 

ดังนั้น ทียูเอฟจึงพยายามจะเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น ใช้นวัตกรรมปรับปรุงตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความต้องการของผู้บริโภค

 

นอกจากนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ถือว่าเป็นความได้เปรียบของทียูเอฟ คือการมีฐานอยู่ที่ไทย ซึ่งตั้งอยู่จุดกลางของการขนส่งในเอเชีย มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอยู่ใกล้แหล่งจับทูน่าขนาดใหญ่ของโลก คือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งในสองมหาสมุทรนี้มีการจับทูน่าได้มากกว่า 70% ของโลก จึงมีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายทูน่าของโลกได้ แม้ว่าไทยจะยังมีคู่แข่งคือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ไทยยังพร้อมกว่ามากในหลายๆ ด้าน