BUSINESS

ไอแบงก์ จี้ "สหฟาร์ม" เร่งสางหนี้เสีย เข้าแผนฟื้นฟู ก.พ.นี้
POSTED ON 03/02/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)  เปิดเผยถึงความคืบหน้าแก้หนี้สหฟาร์ม มูลค่า 1.7 พันล้านบาท ล่าสุดว่า  ขณะนี้ทางเจ้าของสหฟาร์ม ยังไม่ยอมเข้ามาเซ็นสัญญาแผนปรับปรุงหนี้ของไอแบงก์ หลังจากคณะกรรมการธนาคารมีการหารือร่วมกับทางสหฟาร์มและได้อนุมัติแผนปรับปรุงหนี้แล้วและจากนั้นได้มีการส่งหนังสือเชิญให้เจ้าของสหฟาร์ม มาเซ็นสัญญาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

 

"จากการประชุมกับเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหฟาร์ม ได้แก่ บมจ.ธนาคากรุงไทย และกรุงศรีฯ พบว่า ทางสหฟาร์มจะไม่เต็มใจเข้าแผนฟื้นฟู และยังต้องหารือกับเจ้าหนี้รายอื่นให้ครบ จึงไม่มาเซ็นสัญญาในแผนปรับปรุงแก้หนี้กับไอแบงก์ อย่างไรก็ดี ทางไอแบงก์จะขอนัดหารือกับทางกรุงไทยและเจ้าของสหฟาร์มว่าขณะนี้จะมีทิศทางในการแก้หนี้อย่างไร จำเป็นต้องปรับแผนปรับปรุงหนี้ของไอแบงก์หรือไม่ เพราะต้องบริหารแผนร่วมกันอยู่แล้ว โดยไอแบงก์จะต้องได้คำตอบที่ชัดเจนจากทางสหฟาร์มภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นี้ เพื่อเดินหน้าแผนปรับปรุงหนี้สหฟาร์มให้สำเร็จ" นายครรชิต กล่าว

 

ทั้งนี้ เนื่องจากหนี้เสียของสหฟาร์ม 1.7 พันล้านบาท ได้กลายเป็นหนี้ตกชั้น และอยู่ในแผนแก้หนี้ของไอแบงก์ปีนี้ที่มีจำนวนรวม  3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้กลายเป็นลูกหนี้ปกติไม่ให้ตกชั้นลงไปอีกจนกระทบเป้าหมายการดำเนินการของไอแบงก์ จึงต้องการปรับปรุงฐานราก

 

สำหรับแผนปรับปรุงแก้หนี้ของไอแบงก์ จะเป็นการโอนตีทรัพย์มาชำระหนี้ โดยเอาหลักทรัพย์ที่มีอยู่วงเงินมากกว่าหนี้ 1.7พันล้านบาท มาตีโอนทรัพย์กลับมาเป็นของธนาคาร ส่วนที่เหลือไม่มาก จะเอามาแบ่งชำระหนี้คืนให้กับไอแบงก์เป็นวงเงินอีกประมาณ 500 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ นายครรชิตยังกล่าวถึงแนวทางดำเนินงานปี 2557 ว่า  ธนาคารฯ ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาหนี้เสียต่อเนื่องจากปีก่อน โดยยังคงเหลืออยู่อีกประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท หรือ 29% โดยใช้มืออาชีพบริหาร และอีกส่วนหนึ่งคือ ทีมงานภายในเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มเงินกองทุนให้กลับมาเป็นปกติตามที่กฎกระทรวงกำหนด

 

"เราจะให้ทางบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) รับไปบริหารประมาณ 8 พันล้านบาท และบริหารเองประมาณ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขหนี้ได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าหนี้เสียสิ้นปีนี้น่าจะต่ำกว่าหมื่นล้านบาท และจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับปกติที่ 8.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.87%" นายครรชิตกล่าว

 

ขณะที่การสร้างรายได้เพิ่มนั้น ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่พอร์ตผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สูงถึง 47.5% และรายย่อยประมาณ 40% ควบคู่กับการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น Direct Debit และ Direct Credit เป็นต้น ส่วนด้านเงินฝากมีแผนที่จะระดมประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เน้นในกลุ่มระดับกลาง ไม่เกิน 200 ล้านบาท

 

สำหรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ธนาคารก็ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือชุมชนผู้มีรายได้น้อย จาก 8 โครงการ ภายในวงเงิน 1,000 ล้านบาท  นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุน ธนาคารฯ มีแผนจะออกพันธบัตรอิสลาม วงเงิน 5,000 ล้านบาทภายในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีต่อไป