BUSINESS

GC ร่วมกับ GPSC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy Storage System ขนาดใหญ่ที่สุดในประ
POSTED ON 18/02/2563


 

 

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นระบบการสำรองไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ของ GC ในจังหวัดระยอง โดยจะสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 520,000 หน่วยไฟฟ้า หรือคิดเป็น 8.7% ต่อปี ถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานของ กลุ่ม ปตท. โดยมีแผนในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานของประเทศ

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ให้ความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนภายในองค์กร รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างคุ้มค่า สำหรับความสำเร็จในการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ระหว่าง GC และ GPSC ที่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Science & Innovation Center) ของ GC ในจังหวัดระยอง ถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานของ กลุ่ม ปตท. โดย ESS จะเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas Engine) ของ GC ซึ่งส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของอาคารสำนักงานได้ โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 520,000 หน่วยไฟฟ้า หรือคิดเป็น 8.7% ต่อปี

“การนำระบบ ESS มาใช้ เป็นการควบคุมการจัดเก็บและการปลดปล่อยพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้จากระบบผลิตไฟฟ้าจาก (Gas Engine) กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW) ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในอาคารสำนักงาน มากักเก็บไว้ในระบบ ESS ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ โดยไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ใน ESS ยังสามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินกรณีไฟฟ้าตกหรือดับ ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการป้อนไฟฟ้าเข้าสู่อาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และเป็นการบริหารจัดการพลังงานในอาคารฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง โครงการนี้ยังจะช่วยเสริม Reliability ของระบบไฟฟ้าหลักได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของ GC ในด้าน ความยั่งยืน (Sustainability) ในส่วน Smart Operating ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการการใช้พลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเสริมประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง (Reliability) ของระบบไฟฟ้าหลัก รวมไปถึงนโยบายด้านดิจิทัล (Digitalization) โดยการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ (Data Analytic) ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา โดยควบคุมบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลาด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ ทั้งนี้ GC มีแผนงานที่จะขยายการติดตั้งระบบ ESS ไปยังโรงงานปิโตรเคมีของ GC Group เพื่อส่งเสริมให้โรงงาน มี Reliability ที่ดีต่อไป” ดร.คงกระพัน กล่าว

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงความร่วมมือในโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Storage System: ESS) กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ว่า GPSC ได้ออกแบบและติดตั้ง ESS ให้มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานขนาด 1.5 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ซึ่งนับเป็นระบบสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยโครงการนี้ มุ่งหมายให้เป็นโครงการต้นแบบการกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพสูง ดังนั้น ในอนาคตจะมีการขยายการนำ ESS ไปใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในระบบไฟฟ้าให้กับ กลุ่ม ปตท. และผู้สนใจรายอื่นๆ ต่อไป รวมถึงยังสามารถใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อให้สามารถประหยัดพลังงานได้สูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“อาคารสำนักงานของ GC มีขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 0.75 เมกะวัตต์ ซึ่งระบบ ESS ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้าจาก Gas Engine ซึ่งทำให้ Gas Engine ผลิตไฟฟ้าที่ Rated Capacity ได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการนำพลังงานที่ถูกกักเก็บดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารศูนย์นวัตกรรม ดังกล่าวได้ ในขนาด 0.25 เมกะวัตต์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชวลิต กล่าว

การดำเนินโครงการร่วมกันของทั้งสองบริษัท ได้ร่วมกันลงทุน โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง นับเป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้านการบริหารจัดการพลังงาน ที่เพิ่มศักยภาพสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ที่มุ่งไปสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน