BUSINESS

GUNKUL ตั้งเป้าปี 2557 โตกว่า 50% พร้อมมุ่งสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทน
POSTED ON 20/01/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2557 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นผลักดันให้ผลการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2556 ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ หรือรายได้รวม โดยตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2557 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% หรือ 3,000 ล้านบาท จากปี 2556 ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) เพื่อผลักดันธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ทั้งนี้ GUNKUL จะทยอยรับรู้รายได้จากงานที่ค้างส่งมอบมาจากปี 2556 คือ งานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี่ (ชัยภูมิ1) จำกัด และบริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี่ (นครราชสีมา) จำกัด ขนาด 12.5 MW จำนวน 2 โครงการ มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท, งานด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้า รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ในการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับโรงผลิตปูนซีเมนต์ โรงที่ 4 จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มูลค่า 367 ล้านบาท

 

งานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) อีกมูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท สำหรับการทำโครงการ Solar PV Rooftop ดังกล่าว GUNKUL จะเป็นทั้งผู้ออกแบบการก่อสร้าง ผลิต ติดตั้งอุปกรณ์ โดยจะเริ่มลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นต้นไป

 

“ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะเป็นพลังงานที่โดดเด่นในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติอีกด้วย ซึ่ง GUNKUL มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการทำโครงการ Solar PV Rooftop จากประสบการณ์ ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้ามายาวนาน บวกกับทีมงานที่มีความสามารถ ทำให้ GUNKUL ได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งการพัฒนาโครงการ Solar PV Rooftop นี้จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของ GUNKUL ให้สูงขึ้น รวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มเข้ามามากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ในระยะแรก บริษัทฯ จะใช้งบลงทุนไม่มาก แต่จะเน้นเรื่องการก่อสร้างและพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตร ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา มีความประสงค์ให้บริษัทกันกุลเข้าดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการทำโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นควรจะเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์และมีความมั่นคง เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุนานถึง 25 ปี

 

สำหรับโครงการที่บริษัทดำเนินการอยู่จัดอยู่ในกลุ่มอาคารขนาดเล็กและอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่/โรงงาน กำลังการผลิตมากกว่า 250-1,000 กิโลวัตต์ โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อไฟฟ้าในราคา 6.16 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ อีกประมาณ 400 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2557

 

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า “ปี 2557 การดำเนินงานของบริษัทน่าจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะทยอยรับรู้รายได้จากงานที่เลื่อนส่งมอบมาจากปี 2556 อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแผนเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากธุรกิจพลังงานทดแทน ที่ความต้องการทั้งในและต่างประเทศยังมีอยู่มาก และทิศทางในอนาคตจะมีการขยายตัวและมีการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง GUNKUL ถือว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้านกับการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยในปี 2557 บริษัทฯ มีเป้าหมายการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการธุรกิจพลังงานทดแทนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่บริษัทฯ ได้ก่อสร้างและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในสัดส่วนที่ถือครองจำนวน 27 เมกกะวัตต์ ประมาณ 260-270 ล้านบาทต่อปี ตามระยะเวลาที่ได้รับการสนับสนุน Adder 8 บาท เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับรู้ผลกำไรที่จะเพิ่มจากสัดส่วนของธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน”

 

โครงการหลักของ GUNKUL ที่จะลงทุนในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้าว่า แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่ง GUNKUL ถือหุ้นในสัดส่วน 70% โดยจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1 สัญญา กำลังการผลิต 50 เมกกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิต 8 และ 2 เมกกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในต้นปี 2558 นี้

 

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ (Gas Engine) ที่ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ กำลังการผลิตเฟสละ 25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เฟสนั้น ปัจจุบันพันธมิตรของบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยว่า จะขยายการลงทุนไปในประเทศอื่นๆ อาทิ ลาว บริษัทพิจารณาลงทุนเขื่อนขนาดเล็กไว้ ประมาณ 10, 15, 25 เมกกะวัตต์ หรือมินิไฮโดร และมีบริษัทท้องถิ่น โดยมีการเจรจากันแล้วเบื้องต้นกับพันธมิตรในท้องถิ่น ซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ในเรื่องการนำพลังน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน การลงทุนเรื่องสายส่ง และความจัดเจนเรื่องการลงทุน นอกจากนี้ยังพิจารณาโครงการด้านพลังงานในประเทศญี่ปุ่นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์ทรีนีตี้ ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง 2557 ปีทองพลังงานทางเลือก โดยระบุว่า ธุรกิจพลังงานทางเลือกจะโดดเด่นในปี 2557 โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2551-2556 อัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.40% CAGR ขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนผลักดันให้มีการลงทุนในธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่ารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder 6 Bt/Unit) หรือค่าสนับสนุนเงินลงทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff) นอกจากนี้ธุรกิจโซลาร์เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลพิษซึ่งต่างจากธุรกิจโรงกลั่นหรือโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ขณะที่ Gross Margin อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนและรายได้อยู่ในระดับต่ำกว่า

 

ในอดีตที่ผ่านมา กว่า 60% ของการใช้พลังงาน มาจากการนำเข้า โดยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 80% ของปริมาณการใช้ในประเทศทั้งหมด และยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศได้ทันกับความต้องการใช้งาน การพัฒนาพลังงานทดแทนช่วยลดการพึ่งพาและการนำเข้าพลังงานหลัก (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ) และยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศซึ่งเดิมต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาก ราว 70% ซึ่งแหล่งที่มาหลักมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่า แหล่งยาดานา เยดากุน และแหล่งซอติกา

 

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปี 2551-2556 เติบโต 4.40% CAGR ต่อปี ดังนั้น พลังงานทดแทน ถือเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงเป้าหมายที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) พลังงานลมแบบทุ่งกังหันลม พลังน้ำขนาดเล็ก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ ในบทวิเคราะห์นี้ เราจะเน้นไปยังธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm Business)

 

ในปี 2556 ที่ผ่านมา สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานของประเทศอยู่ที่ 10.9% +10% YoY โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อนจากชีวมวล โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ราว 635 MW +154% YoY

 

กระทรวงพลังงานคาดการณ์ความต้องการพลังงานในปี 2564 ไว้ที่ 99,838 ktoe จากปัจจุบัน 71,728 ktoe โดยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 และแผนการพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2555-2564 ได้กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 7,413 ktoe ในปี 55 เป็น 25,000 ktoe ในปี 64 หรือคิดเป็น 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยในส่วนของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แบ่งออกเป็นดังนี้

 

พลังงานแสงอาทิตย์ เป้าหมายปี 2564 ที่กำลังการผลิต 2,000 MW โดยปัจจุบัน มีบริษัทที่จำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเข้าระบบ EGAT เพียง 645 MW เท่านั้น ได้แก่ BCP DEMCO EA IFEC GUNKUL SPCG ซึ่งเรามองว่ายังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแผนส่งเสริมภาคเอกชนและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar PV Rooftop โดยตั้งเป้าที่ 1,000 MW ภายในปี 8 ปีข้างหน้า

 

พลังงานลม เป้าหมายปี 2564 ที่กำลังการผลิตรวม 1,200 MW โดยปัจจุบัน มีบริษัทที่จำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานเข้าระบบ EGAT ราว 200 MW เท่านั้น คิดเป็นเพียง 17% ของเป้าหมาย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Wind Energy Holding ซึ่งถือหุ้นโดย DEMCO และ RATCH อย่างไรก็ตาม เรามองว่าต้นทุนการก่อสร้างและความเสี่ยงของธุรกิจพลังงานลมนั้น มีความเสี่ยงสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มโดดเด่นในภาวะแนวโน้มราคาน้ำมันดิบอ่อนตัว

 

และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) คงเดินหน้าขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการเติบโตทางธุรกิจด้านพลังงานต่อไปอย่างมั่นคง อันจะนำมาซึ่งการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนครบวงจรทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า