BUSINESS

"อมตะ" ทุ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดนิคมชายแดนพม่า-กาญจน์ฯ
POSTED ON 09/01/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ทิกิ อยู่ระหว่างชายแดนไทย บริเวณบ้านพุน้ำร้อน และพม่า ประมาณ 3-4 กิโลเมตร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (จีเอสพี) ภายในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกเกือบทั้งหมด

 

"ขณะนี้มีผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเรื่องของค่าแรงและกำลังจะถูกตัดจีเอสพีแสดงความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่พม่า และพร้อมเลือกนิคมแห่งใหม่ของเรา เพราะเห็นว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และอยู่ใกล้กับประเทศไทยด้วย" นายวิบูลย์กล่าว

 

ด้าน นางสมหทัย พานิชชีวะ ประธานคณะกรรมการการลงทุน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า รูปแบบการลงทุนโครงการอมตะ ซิตี้ ทิกิจะมาจาก 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มอมตะ คอร์ปอเรชั่น ในฐานะนักพัฒนา (2) รัฐบาลพม่า ในฐานะเรกูเรเตอร์ และ (3) กะเหรี่ยงกองพลที่ 4 ในฐานะเจ้าของพื้นที่

 

"จุดเริ่มต้นโครงการนี้มาจากบริษัทฯ ได้เข้าไปดูสภาพพื้นที่แล้ววิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ก่อนที่จะนำโครงการไปเสนอกับรัฐบาลพม่า ซึ่งโชคดีที่พม่ามีนโยบายที่จะเปิดรับการลงทุนจากภายนอกประเทศอยู่แล้ว ทำให้โอกาสที่เราจะเข้าไปลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น" นางสมหทัย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเลือกพื้นที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยมีการสำรวจพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,375 ไร่ โปรเจ็คนี้จะช่วยต่อยอดและสนับสนุนให้โครงการทวายเกิดได้เร็วขึ้น และตอบโจทย์ให้กับอุตสาหกรรมในเมืองไทยที่อยู่ไม่ได้ เพราะได้รับผลกระทบจากค่าแรงและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่กำลังจะโดนตัดสิทธิ์จีเอสพีในปี 2557 ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตออกไปอยู่ขอบๆ ประเทศไทย

 

จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอมตะฯ มีความพร้อมด้านเงินทุนที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกู้สถาบันการเงิน หรือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการทยอยลงทุน

 

ทั้งนี้ ตามแผนจะเป็นการลงทุนระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2557-2567) จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2557 นี้ โดยใช้วัสดุก่อสร้างจากประเทศไทยเกือบทั้งหมดในการก่อสร้างสาธารณูปโภคในโครงการ รวมทั้งการตัดถนนจากนิคมที่เมืองทิกิเชื่อมกับบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมืองกาญจนบุรี เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม จากนั้นประมาณ 6-7 เดือน ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าไปก่อสร้างอาคารของตัวเองได้

 

สำหรับลูกค้าเป้าหมาย คืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และอุตสาหกรรมที่กำลังถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในหลายกลุ่มธุรกิจได้มีการย้ายฐานผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และ สปป.ลาว ในส่วนของพม่า ที่ผ่านมา ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการเข้าไปลงทุนในลักษณะนี้ ดังนั้น ถือว่าโครงการอมตะ ซิตี้ ทิกิ เป็นโปรเจ็คแรกของพม่าที่ได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ชายแดน และจะเป็นโมเดลให้กับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต

 

อมตะ ซิตี้ ทิกิ เป็นสเต็ปที่หนึ่งของบริษัทที่จะก้าวเข้าไปหาทวายในอนาคต โดยโครงการนี้เป็นโมเดลที่คล้ายกับเม็กซิโกโมเดล รูปแบบคือสหรัฐอเมริกาเข้าไปลงทุนในพื้นที่ชายแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกจากสหรัฐมาช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องน้ำ ไฟฟ้า ที่สำคัญคือแรงงานสามารถเดินทางข้ามไปทำงานแล้วข้ามกลับมาประเทศของตัวเองได้หลังเลิกงาน

 

นางสมหทัยกล่าวด้วยว่า สิ่งที่กังวลคือการเปิดด่านศุลกากรระหว่างไทยกับพม่า ทำอย่างไรให้ขั้นตอนเป็นไปด้วยความราบรื่น รวมทั้งกฎหมายการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ในพม่าจะออกมาในรูปแบบใด เช่น จะเอื้ออำนวยให้กับนักลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่ของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐจะทำได้มากน้อยแค่ไหน หากเป็นแบบ One Stop Service ไม่มีปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด เนื่องจากการลงทุนในลักษณะนี้ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับพม่า