BUSINESS

ไออาร์พีซี เล็งตั้งโรงงานผลิตพาราไซลีนเอง
POSTED ON 24/05/2559


ธุรกิจอุตสาหกรรม 24 พ.ค.2559 - นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานพาราไซลีน (PX) เอง ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 8-9 แสนตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบไลท์แครกเกอร์ แนฟทา (LCN) จากโรงงานของ IRPC เอง และโครงการ UHV ซึ่งเดิมส่งออกและขายให้กับโรงกลั่นในการผลิตแก๊สโซฮอล์ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าจะลงทุนหรือไม่ เพราะต้องดูสถานการณ์พาราไซลีนว่าฟื้นตัวดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันราคา สเปรดพาราไซลีน กับ แนฟทา อยู่ที่ 380 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อย

 

ก่อนหน้านี้บริษัทฯมีแผนตั้งโรงงานผลิตพาราไซลีนขนาด 1.8 ล้านตัน โดยนำวัตถุดิบจาก 3 บริษัทในเครือ ปตท. ได้แก่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และไออาร์พีซี แต่เนื่องจากต้องรอให้โครงการใหม่ของไทยออยล์แล้วเสร็จซึ่งกินเวลานาน 4-5 ปี ดังนั้น บริษัทฯจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเอง

 

ส่วนโครงการผลิต AA/SAP ที่จะร่วมทุนกับ ปตท. โดยใช้วัตถุดิบคือโพรพิลีนจากไออาร์พีซีนั้น หลังจากที่ศึกษามานานกว่า 2 ปี ก็คิดว่าคงต้องเลื่อนโครงการออกไปก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นยังต่ำและติดปัญหาเรื่องเทคโนโลยี เพราะเจ้าของเทคโนโลยีไม่ขายและไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้วิจัยนำสไตรีน โมโนเมอร์ มาผสมยางธรรมชาติ 35% เพื่อทำกรวยยางจราจร เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางธรรมชาติ เบื้องต้นพบว่า ต้นทุนราคาไม่ต่างจากกรวยจราจรเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ก็มีการบริจาคกรวยยางจราจรในแต่ละปีจำนวนมาก ทาง ปตท.จึงได้เสนอให้บริษัทฯศึกษาการนำยางพาราธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับเม็ดพลาสติกโดยคงความแข็งแรงเหมือนเดิม

 

ส่วนแผนระยะยาว 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) ของบริษัทฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2559 นี้ โดยในแผนระยะยาวนั้นบริษัทฯอาจจะลงทุนในต่างประเทศไปพร้อมกับ ปตท. หากมีกระแสเงินสดเหลือเพียงพอหลังจากมีการทยอยจ่ายคืนหนี้ออกไปภายหลังโครงการ UHV แล้วเสร็จ ทำให้บริษัทฯมีผลค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งโครงการเอเวอร์เรส จะทำให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถึงเวลานั้นแล้วอันดับเครดิตของไออาร์พีซีจะอยู่ที่ระดับ Investment Grade

 

ขณะที่ในปีหน้าบริษัทฯมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ 1.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงมีแผนที่จะกู้เงินแบบซินดิเคตโลนวงเงิน 10,000 ล้านบาทและออกหุ้นกู้อีก 10,000 ล้านบาท โดยจะออกประมาณปลายปีนี้ถึงต้นปี 2560 ซึ่งไม่มีผลทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทฯเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics