BUSINESS

พิษเหล็กจีน! ทำ "ทาทา สตีล" ประกาศขายกิจการในอังกฤษแล้ว
POSTED ON 03/04/2559


ธุรกิจอุตสาหกรรม 3 มี.ค.2559 - ทาทา (TATA) ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของอินเดีย และเป็นผู้ผลิตเหล็กสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของยุโรป เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯได้เสนอแนะให้ทาทา สตีล ยุโรป ดำเนินการเสาะหาช่องทางในการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการขายกิจการของทาทา สตีล สหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการขายทั้งหมด หรือตัดขายบางส่วน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะการเงินอันย่ำแย่ของสาขาในประเทศอังกฤษ

 

ทาทา สตีล ประสบภาวะขาดทุนเฉลี่ยวันละกว่า 1 ล้านปอนด์ หรือราว 50 ล้านบาทต่อวัน จากผลกระทบของเหล็กนำเข้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดด้วยราคาต่ำกว่า โดยคณะกรรมการของทาทา สตีล ระบุว่า ภายใต้ภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยนั้นทางกลุ่มทาทา สตีล ได้ให้เงินสนับสนุนเป็นจำนวนมากแก่สาขาอังกฤษ จนทำให้สินทรัพย์ด้อยค่าลงกว่า 2,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะกรรมการฯเห็นว่า บริษัทฯไม่สามารถให้การสนับสนุนด้านการลงทุนที่จำเป็นในการดำเนินงานตามข้อเสนอ Strip Products UK Transformation ได้ และทาทาจะเดินหน้าหารือกับเกรย์บูลล์ (Greybull) ต่อไป ในเรื่องของการขายธุรกิจ UK Long Products

 

สำหรับ ทาทา สตีล สหราชอาณาจักร มีพนักงานประมาณ 15,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ทาทาได้ปรับลดคนงานลงกว่า 3,000 อัตรา จาก 18,000 คน เหลือ 15,000 คน โดยมีพนักงานประจำการอยู่ที่เมืองพอร์ท ทัลบ็อต จำนวน 5,500 คน

 

การออกมาขายประกาศขายกิจการโรงงานของทาทา สตีล ในสหราชอาณาจักร ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาหาทางช่วยเหลืออุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีการจ้างแรงงานกว่า 40,000 ตำแหน่ง และอาจจะกระทบต่อตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ผู้ผลิตเครื่องจักร ถ่านหิน และปิโตรเลียม อีกประมาณ 25,000 อัตรา

 

โดย นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกแถลงต่อกรณีที่ทาทา สตีล เตรียมขายกิจการทั้งหมดในสหราชอาณาจักร หลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในทุกวิถีทางตามกรอบของกฎหมาย เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ รวมถึงการหารือกับผู้บริหารของทาทา สตีล อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยังไม่ยืนยันว่าความพยายามของรัฐบาลจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล็กกล้าทั่วโลกก็กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกับทาทา สตีล เช่นกัน และรัฐบาลอังกฤษก็ยังไม่มีแผนที่จะโอนสัมปทานของทาทา สตีล กลับมาเป็นของรัฐ

 

ขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานโรงงานเหล็ก มองว่า รัฐบาลอังกฤษควรดูแบบอย่างจากรัฐบาลแคว้นสกอตแลนด์ที่รับซื้อโรงงานเหล็ก 2 แห่ง จากทาทา สตีล เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ และคนงานไม่ต้องถูกปลด จนกว่าจะหาผู้ซื้อที่มีศักยภาพได้ในอนาคต

 

เมื่อปีที่แล้วอังกฤษนำเข้าเหล็กจากจีน 826,000 ตัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสถิติในปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 361,000 ตัน ข้อมูลจากสำนักสถิติเหล็กระหว่างประเทศชี้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าเหล็กจีนมายังยุโรปเพิ่มขึ้น 2 เท่า สวนทางกับราคาที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตัวเลขจากสมาคมเหล็กโลกที่ระบุว่าช่วงปี 2548-2558 การผลิตเหล็กในสหภาพยุโรปลดลง 15% ส่วนในอังกฤษหดลง 18%

 

สำหรับกลุ่มทาทา สตีล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2450 ในฐานะบริษัทเหล็กกล้าภาคเอกชนแบบบูรณาการรายแรกของเอเชีย และเป็นบริษัทเหล็กกล้าอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยผลประกอบการ 22,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 784,000 ล้านบาท) ในปีการเงิน 2558 และมีพนักงานอยู่ใน 5 ทวีปทั่วโลกกว่า 80,000 คน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics