BUSINESS

อิตัลไทยฯ เผย โรงไฟฟ้าโซลาร์ 12 โครงการ จ่ายไฟเข้าระบบให้ กฟภ.แล้ว
POSTED ON 22/03/2559


 

ธุรกิจอุตสาหกรรม 22 มี.ค.2559 - นายสกล เหล่าสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้นำตลาดทางด้านวิศวกรรมการก่อสร้างแบบครบวงจร ภายใต้อิตัลไทย กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ร่วมงานกับบริษัท โปรเซสเอ็นจิเนียริ่งเซอร์วิส จำกัด ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ บริษัท โรงพยาบาลยันฮี จำกัด, บริษัท บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด) และ บริษัท โซลาร์วา จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด) จำนวน 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 91.7 เมกะวัตต์ ใน จ.นครปฐม และ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าและขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันเวลา ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

 

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจออกแบบ และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลและพลังงานจากขยะ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน สถานีไฟฟ้าแรงสูง งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน ปิโตรเคมี และโรงงานขนาดใหญ่ และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของอาคารสูง และ

 

สำหรับโครงการต่างๆ ของ บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ และ โซลาร์วา นครปฐม มีทั้งหมด 12 โครงการ โดยโครงการบี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ มีจำนวน 9 โครงการ ได้แก่ ไทรหลวง 1 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 2 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 3 (8 MW, 115 kV), ไทรหลวง 9 (7.2 MW, 115 kV), ไทรหลวง 10 (7.5 MW, 115 kV), ไทรใหญ่หน้า (8 MW, 115 kV), ไทรมะนาว (8 MW, 115 kV), ไทรพุทรา (8 MW, 22 kV) และ ไทรเสนา 2 (5 MW, 22 kV)  และโครงการโซลาร์วา นครปฐม (B.Grimm–Sena Solar) มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ไทรแสบ (8 MW, 22 kV), ไทรลุ้ยริมน้ำ (8 MW, 115 kV) และไทรฉลวย (8 MW, 115 kV) ด้วยงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

 

"บริษัทฯรับผิดชอบงานในส่วนของการออกแบบ จัดหา และก่อสร้าง พร้อมติดตั้ง ทดสอบ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พร้อมสถานีไฟฟ้าย่อย 115/22 kV การติดต่อประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและคณะกรรมการกิจการพลังงาน (ERC) ในการทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า (PPA) ให้กับเจ้าของงาน และการขออนุมัติก่อสร้างและทดสอบจ่ายไฟในแต่ละโครงการ จนสามารถต่อเชื่อมเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ครบทุกสัญญา ได้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ก่อนกำหนดเวลาที่รัฐบาลกำหนดคือ 31 ธันวาคม 2558" นายสกล กล่าว

 

ทั้งนี้ ในปี 2558 ถือเป็นปีแห่งงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของบริษัท โดยสามารถก่อสร้างและจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์รวมกว่า 139 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 10 เมกะวัตต์ โดยนอกเหนือจากโครงการดังกล่าว บริษัทฯยังได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อีก 2 โครงการ เสร็จทันเวลาตามกำหนดเวลาของรัฐบาลดังกล่าว คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ อยู่ในเครือบริษัท ซุปเปอร์ บล๊อก จำกัด (มหาชน) ขนาด 41 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบหมุนตามแสงอาทิตย์ของบริษัท SunEdison ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ ที่ จ.ลพบุรี

 

ขณะเดียวกัน ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริษัทฯก็ได้ร่วมกับบริษัท โกลด์วินด์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ให้กับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (iWIND) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ IFEC group เสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และปัจจุบันก็กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้โครงการชัยภูมิวินด์ฟาร์มให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) ขนาด 80 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 50 และมีกำหนดจ่ายไฟภายในปี 2559 นี้

 

อิตัลไทยวิศวกรรม ตั้งเป้าการรับรู้รายได้ในปี 2559 ไว้ที่ 5,600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีมูลค่างานในมือ (backlog) กว่า 6,000 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวนอกเหนือจากรายได้จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแล้ว ยังมาจากงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง งานก่อสร้างระบบประกอบอาคารสูง งานก่อสร้างโรงงานและสาธารณูปโภคในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมันและแก๊ส และงานก่อสร้างระบบจ่ายสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics