BUSINESS

อิตัลไทย ลงสนามพลังงานทดแทน ลุยธุรกิจโซลาร์-ไบโอแมส
POSTED ON 03/11/2558


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า  ขณะนี้บริษัท อิตัลไทย วิศวกรรม จำกัด อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามเป้าหมายคือในปี 2560 โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ (1) การเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 306 ล้านบาท เพิ่มเป็น 530 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้สามารถรับงานมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป (2) การลงทุนซื้อที่ดินในจังหวัดระยอง เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์สำหรับรองรับกลุ่มลูกค้าหลัก คือ โรงงานปิโตรเคมี และ (3) ขยายการลงทุนใหม่ไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมส และการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จากปัจจุบันที่มีบทบาทเป็นเพียงผู้รับเหมาออกแบบและติดตั้งระบบ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ยื่นขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในโครงการโซลาร์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) รวมกำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์

 

นายเกษม มาไกรเลิศ รองประธานกรรมการ บริษัท อิตัลไทย วิศวกรรม จำกัด เปิดเผยว่า "ก่อนหน้านี้ อิตัลไทยฯรับงานเพียงก่อสร้างโครงการให้กับลูกค้าเป็นหลักเท่านั้น หลังจากนี้จะเพิ่มการเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อรักษาระดับฐานรายได้ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ถึงปัจจุบันเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักอย่างโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งได้ชะลอการขยายการลงทุนออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นปิโตรเคมีต้นน้ำ ในส่วนปลายน้ำยังพอมีการลงทุนอยู่บ้าง"

 

นายเกษม กล่าวว่า นอกจากการลงทุนในโซลาร์เซลล์แล้ว อิตัลไทยฯยังมองโอกาสที่จะลงทุนในกลุ่มไบโอแมสที่ใช้เศษไม้และซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง และกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะ โดยได้ตั้งทีมงานใหม่เพื่อมารับผิดชอบธุรกิจนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากโครงการโซลาร์เซลล์จะเต็มโควตารับซื้อในเร็วๆ นี้ ดังนั้น โครงการที่ภาครัฐจะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มต่อ คือ ไบโอแมส และขยะ เพราะประเทศมีศักยภาพด้านเชื้อเพลิง ขณะนี้รอความชัดเจนในเงื่อนไขและกติกาต่างๆ ที่อาจจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าในเร็วๆ นี้

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ได้ โดยธุรกิจดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งเงินทุนจะมาจากกู้สถาบันการเงินร้อยละ 70 และใช้กระแสเงินสดที่ร้อยละ 30 หากเป็นไปตามเป้าหมาย การลงทุนในธุรกิจใหม่จะยิ่งช่วยเพิ่มรายได้ของบริษัทฯที่วางไว้ที่ 7,000 ล้านบาท ในปี 2560 หรืออาจเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

ส่วนงานรับเหมาที่มีอยู่ในมือ (Backlog) ในปีนี้มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท และสำหรับปี 2559 มีมูลค่าที่ 1,500 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายการทำรายได้ในปีนี้ของบริษัทฯน่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เกินจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 4,600 ล้านบาท

 

สำหรับรายได้ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ (2557-2560) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจหลัก คือ รับเหมาในโครงการพลังงานทดแทน การรับเหมาโครงการสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นอกจากนี้ บริษัทฯยังรอความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า การวางระบบในอาคาร

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics