BUSINESS

BWG ร่วม กนอ.ศึกษาต้นแบบนิคมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ใช้แล้ว
POSTED ON 26/10/2558


 

ธุรกิจอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการร่วมดำเนินงานโครงการ "ศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว" โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม และ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี

 

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ใช้แล้วที่ได้มาตรฐานสากล เพราะนอกจากจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดตามกฎระเบียบของ กนอ.แล้ว ยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมที่ไม่มีมูลค่ามาพัฒนาเป็นพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศได้อีกด้วย

 

"หากจัดตั้งได้สำเร็จจะสามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในอนาคต ตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ ซึ่ง กนอ.พร้อมสนับสนุนให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างสะดวกภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง ทั้งทีมสำรวจพื้นที่ และการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายวีรพงศ์ กล่าว

 

กนอ.ได้มอบหมายให้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ เข้ามาศึกษาถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเกิดประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยจุดเด่นของบริษัทฯที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจนี้อย่างครบวงจร

 

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า โครงการศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเกิดขึ้นเพื่อต้องการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และสามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว โดยผ่านการคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม

 

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสานต่อนโยบายของ กนอ. ที่ต้องการให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสากลเข้ามารองรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานทดแทน

 

"BWG มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี และมองว่าเป็นประโยชน์หากธุรกิจประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกันภายใต้ระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับ โดยการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจาก กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยระบบที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของภาครัฐ  อีกทั้งผู้ประกอบการเองก็จะได้มีที่ตั้งโรงงานที่มีระบบสาธารณูปโภคแบบครบครัน ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ที่นอกจากจะสามารถลดปริมาณกากอุตสาหกรรมได้แล้ว ยังได้พลังงานเข้ามาใช้ในประเทศอีกด้วย" นายสุวัฒน์ กล่าว

 

โครงการนี้มีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 1 ปี โดยเบื้องต้นจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 พื้นที่ของประเทศไทย ได้แก่ (1) ภาคกลางและปริมณฑล (2) ภาคตะวันออก ในโซนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และ (3) ภาคตะวันตกที่จะเชื่อมกับโซนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทฯจะใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ 1,000 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกโซนภาคกลางและปริมณฑลให้แล้วเสร็จก่อนในระยะเวลา 2 ปี และวางเป้าหมาย 5 ปีจะเปิดให้ครบ 3 แห่ง

 

ทั้งนี้ BWG จะเป็นผู้ให้บริการนำขยะต่างๆ จากลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกว่า 5,000-6,000 ราย ซึ่งมีขยะรวมกันราว  300,000-500,000 ตันต่อปี ป้อนให้กับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ส่วนโรงงานพลังงานทดแทนจากขยะของบริษัทลูกที่มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และเปิดขาย 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการได้กลางปีหน้า

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics