BUSINESS

ทีโอเอ เตรียมผุดโรงงานใหม่ในเขมรและอินโดฯ ปีนี้
POSTED ON 28/04/2558


ธุรกิจอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รายงานข่าวในวันนี้ (28 เม.ย.2558) ถึงบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสี TOA ที่ประกาศมุ่งสู่เบอร์หนึ่งของอาเซียน พร้อมเผยถึงผลประกอบการในปี 2557 ที่ผ่านมาว่ามีรายได้กว่า 16,600 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5% ขณะที่บริษัทฯกำลังเร่งเดินหน้าบุกตลาดสีในอาเซียน โดยการเปิด 2 โรงงานใหม่ในกัมพูชาและอินโดนีเซีย โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าตลาดอาเซียนจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

 

นายพงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เป้าหมายหลักของบริษัทฯ จากนี้ไปคือการเป็นเบอร์ 1 ทั้งในด้านยอดขายและแบรนด์ในตลาดอาเซียน ซึ่งตลาดสีทาอาคารในกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่ารวมประมาณ 54,000 ล้านบาท เฉพาะใน 9 ประเทศไม่นับรวมประเทศไทยตลาดสีทาอาคารมีมูลค่ารวมที่ 32,000 ล้านบาท โดยในปัจจุบัน TOA มียอดขายจากกลุ่มตลาดอาเซียนที่ 1,200 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายจากตลาดอาเซียน 2,400 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตของยอดขายในตลาดอาเซียนจากปีก่อนหน้าเพิ่มเป็น 50% ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ บริษัทฯมียอดขายรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 18,600 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 12%

 

ทั้งนี้ ตลาดสีทาอาคารในประเทศมีมูลค่ารวม 22,000 ล้านบาท ในปีที่แล้ว TOA สามารถสร้างยอดขายรวมทั้งสิ้น 15,400 ล้านบาท หรือมีแชร์ตลาดอยู่มากกว่า 60% โดยในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าว่าจะมียอดขายในประเทศเติบโตที่ 8% หรือโตจากปีก่อน 3% หรือมียอดขายรวมในประเทศที่ 16,200 ล้านบาท

 

ที่ผ่านมา TOA ได้มีการตั้งโรงงานผลิตสีในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า และไทย และในช่วง 1-2 ปีนี้ยังมีแผนจะตั้งฐานการผลิตเพิ่มในประเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน โดยในส่วนของการตั้งโรงานในกัมพูชานั้นขณะนี้มีที่ดินในการตั้งโรงงานผลิตแล้วในกรุงพนมเปญบนพื้นที่ 6.25 ไร่ ซึ่งจะใช้เม็ดเงินลงทุนเฉพาะการติดตั้งเครื่องจักร 8 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในไตรมาส 4/2558 นี้ ส่วนการตั้งโรงงานในอินโดนีเซียนั้นจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15 ล้านบาทในการติดตั้งเครื่องจักร ส่วนในประเทศ ฟิลิปปินส์ และบรูไน อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อม

 

นายพงษ์เชิด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า "การวางยุทธศาสตร์ด้านการเปิดตลาดในประเทศอาเซียนนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เนื่องจากต้องมีความพร้อมในด้านระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์ ซึ่ง TOA วางเป้าหมายว่าจะสร้างให้เกิดฮับทีโอเอ หรือศูนย์ผลิตกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดขึ้นภายใน 10 ปีจากนี้ไป ขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ เพื่อให้เกิดการยอมรับในตัวสินค้าของบริษัทฯต่อประชากรในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมและการเปิดรับสินค้าของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน"

 

"แต่ปัญหาของการเข้าไปเปิดตลาดในแต่ละประเทศ คือ ความพร้อมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ และการกระจายสินค้า เนื่องจากสินค้า TOA เป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียม ในการเข้าไปทำตลาดในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเท่าๆ กัน หรือสูงกว่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อและความพร้อมทั้งยอมรับในแบรนด์ของ TOA แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า จะค่อนข้างต้องใช้เวลา เพราะแม้ว่าแบรนด์ TOA จะเป็นที่ยอมรับ แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่มีกำลังซื้อต่ำ จะทำให้ยากต่อการเข้าถึง เพราะลูกค้ายังไม่พร้อมจะรับต่อสินค้าในระดับพรีเมียม จึงต้องใช้เวลาในการสร้างตลาด" นายพงษ์เชิด กล่าว

 

"อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในบางประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่เล็ก และมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งลูกค้าในประเทศนั้นจะมีกำลังซื้อไม่มากนัก จะเป็นตลาดที่ยากต่อการเปิดรับสินค้าของบริษัทฯ แต่ในการเปิดตลาดนั้น TOA จะไม่นำสินค้าราคาต่ำหรือเปิดเซ็กเมนท์สินค้าที่มีราคาถูกเข้าไปเปิดตลาด แต่จะนำสินค้าในกลุ่มสีระดับพรีเมียมเข้าไปทำตลาดก่อน เพราะการนำสินค้าในตลาดล่างไปเปิดตลาดจะทำให้ยากต่อการขยายตลาดไปสู่เซ็กเมนท์ระดับบน

 

ตรงกันข้ามหากเรานำสินค้าพรีเมียมไปเปิดตลาด เมื่อสินค้าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคแล้ว การขยายตลาดลงมาสู่เซกเมนท์ที่ต่ำกว่าจะทำได้ง่ายเพราะสินค้าและแบรนด์เป็นที่ยอมรับของลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ การนำสินค้าในเซกเมนท์ระดับล่างไปเปิดตลาดยังจะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มีการทุ่มตลาด หรือเปิดสงครามราคาขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการทำตลาดของบริษัท เพราะมีต้นทุนที่ต่างกัน และยังเสียเปรียบด้านระบบการกระจายสินค้าต่อผู้ประกอบการในพื้นที่" นายพงษ์เชิด กล่าว

 

ส่วนการตั้งโรงงานหรือฐานการผลิตเพื่อให้เกิดความพร้อมในการกระจายสินค้านั้น แม้ว่า TOA จะสร้างฮับโลจิสติกส์สำเร็จตามเป้ามายที่วางไว้ตามแผน ซึ่งอาจจะทำให้มองว่าในอนาคตไม่จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งโรงงานหรือฐานการผลิตในทุกประเทศ เพราะมีระบบการกระจายสินค้าครอบคลุมแล้ว แต่จริงๆ แล้วการตั้งฐานผลิตนั้นยังคงจำเป็น เพราะต้นทุนการผลิตในพื้นที่กับการขนส่งสินค้าจากจุดกระจายสินค้านั้นมีความแตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งสินค้าประเทศสีทาอาคารเป็นสินค้าที่มีส่วนประกอบของน้ำเป็นหลัก จึงทำให้ต้นทุนในการขนส่งสูงไปด้วย เพราะน้ำมีน้ำหนักมาก