BUSINESS

ราชบุรีโฮลดิ้ง เผยแผนลงทุนปีหน้ากว่าหมื่นล้านบาท
POSTED ON 24/11/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทฯ ได้เดินตามกรอบแผนกลยุทธ์ 10 ปี (2556-2566) โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่ากิจการให้เติบโตสู่เป้าหมายสูงสุดที่ 282,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้กำหนดไว้ที่ 121,000 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานใน 9 เดือนที่ผ่านมานี้ มูลค่ากิจการเติบโตขึ้นจาก 110,000 ล้านบาท เป็น 119,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในปี 2558 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนจำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้า หรือโครงการเดิมที่มีการพัฒนาอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่นำไปลงทุนในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสาใน สปป.ลาว คาดว่าสามารถจ่ายไฟเข้าระบบยูนิตแรกเดือน มิ.ย.2558

 

สำหรับการลงทุนโครงการใหม่ในปีนี้และปีหน้า บริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการในต่างประเทศ จำนวน 8 โครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท ใน 6 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการในญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย

 

ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณ ประกอบด้วย (1) โครงการในพม่า 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เมืองมะริด กำลังการผลิต 2,460 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4-5 พันล้านเหรียญ อยู่ระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเสร็จก็คาดว่าจะเซ็นลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับรัฐบาลพม่า ในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 (2) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมือง ที่เชียงตุง ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1 พันล้านเหรียญ โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและคาดจะได้ลงนามบันทึกข้อตกลงได้หลังทำผลการศึกษาเสร็จในเดือน เม.ย.2558 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมืองที่เชียงตุงน่าจะดำเนินการได้ก่อน

 

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจเชื้อเพลิง บริษัทฯ จะเข้าร่วมทุนกับ บมจ.ปตท.(PTT) ในโครงการคลังแอลเอ็นจี (LNG Terminal) เฟส 3 ขนาด 5 ล้านตัน ตั้งอยู่ในประเทศพม่า เพื่อทดแทนก๊าซจากแหล่งเยตากุน และยาดานาจากพม่าใกล้หมดอายุสัญญา และเชื่อว่ารัฐบาลพม่าจะไม่ต่อสัญญา อีกทั้งคุณภาพก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งมีความผันผวน ซึ่งการตั้งคลังแอลเอ็นจีจะป้อนให้กับโรงไฟฟ้ากลุ่มบริษัทฯ

 

ส่วนในออสเตรเลีย บริษัทฯ มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 160-180 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขายไฟฟ้ากับผู้ซื้อ คาดว่าจะได้ความชัดเจนในไตรมาส 1 ปี 2558, โครงการสายส่งแรงสูง ขนาด 230 KV ระยะทาง 125 กิโลเมตร ในกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปปีนี้ โดยบริษัทจะร่วมลงทุน 50% ใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาท

 

ขณะที่ในเวียดนาม บริษัทฯ จะเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า IPP ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เงินลงทุน 2 พันล้านเหรียญ โดย RATCH จะเข้าถือ 30% EGAT International ถือ 40% และพันธมิตรท้องถิ่น 30% คาดจะลงนามร่วมทุนในปลายปีนี้

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเพิ่มเติมจากเดิมลงทุนไปแล้ว 33 เมกะวัตต์ จะเพิ่มเป็น 100-120 เมกะวัตต์ ซึ่งร่วมทุนกับ บมจ. เชาว์สตีล (CHOW) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุน ระหว่างนี้ทำ Due Diligence อยู่ 4-5 โครงการ คาดเริ่มได้ในปี 2558 ส่วนโครงการสุดท้ายคือ โครงการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย โดยบริษัทฯ สนใจเข้าร่วมทุนจำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะใช้เวลาตัดสินใจคัดเลือกภายใน 3 เดือน

 

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวถึงการลงทุนในประเทศ ได้แก่ โครงการราชบุรีโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี และเจรจาร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จ.สมุทรปราการ กำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังร่วมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น อีก 2 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 33 เมกะวัตต์ ทั้งหมดเป็นโครงการประเภท Greenfields ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะลงทุนในส่วนทุนเป็นเงินประมาณ 1,213 ล้านบาท ดังนั้น ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 6,565 เมกะวัตต์ โดย 5,561 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และ 1,004 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา

 

ที่มา : แนวหน้า