BUSINESS

SCG ชี้ ?ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์? ที่เวียดนามช่วยดันบริษัทสู่ผู้นำอาเซียน
POSTED ON 04/11/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่ประเทศเวียดนามมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท (ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ว่า จะได้ข้อสรุปวงเงินลงทุนได้ภายในเดือน มี.ค. 2558 และล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดประมูลในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง และจะเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 เมื่อโครงการสำเร็จจะเป็นการตอกยํ้าว่าเอสซีจีเป็นผู้นำในอาเซียนในปิโตรเคมีขั้นปลาย (ดาวน์สตรีม) ที่จะมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น จากที่ปัจจุบันเป็นผู้นำปิโตรเคมีขั้นดาวน์สตรีมในอาเซียนอยู่แล้ว

 

“อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอยู่ในจังหวะขาขึ้นไปถึงปี 2560 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ไป ซึ่งผู้ผลิตไทยในเวลานี้ในแง่เอสซีจีจะใหญ่ด้านปิโตรเคมีขั้นดาวน์สตรีม ส่วน ปตท.จะใหญ่ในด้านปิโตรเคมีขั้นต้น (อัพสตรีม) โดยเอสซีจีจะไม่มีเรื่องก๊าซ ไม่มีเรื่องรีไฟเนอรี ดังนั้น ตัวอัพสตรีมเกิดขึ้นเพื่อมาซัพพลายของให้กับดาวน์สตรีม และดาวน์สตรีมของเราเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เยอะ และตรงนี้เราสามารถครองตลาดได้มาก” นายกานต์ กล่าว

 

ขณะที่ในส่วนของยอดขยานั้น บริษัทฯ คาดว่าปีนี้ยอดขายรวมจะอยู่ที่ 4.88 แสนล้านบาท แต่ต้องอยู่ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยอดขายรวมดังกล่าวยังต้องลุ้น 2 ตัวแปรหลักที่จะเกิดขึ้นได้คือราคาปิโตรเคมีที่เริ่มลดลง เพียงแต่ปริมาณยอดขายกลุ่มปิโตรเคมีของเอสซีจียังดีอยู่ รวมถึงยอดขายในภูมิภาคอาเซียนที่ขยับตัวดีด้วย รวมถึงเรื่องค่าเงิน สองปัจจัยนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญ

 

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ าปิโตรเคมีคือต้นนํ้าของอุตสาหกรรมพลาสติก การที่มองกันว่าปิโตรเคมีอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นต่อไปอีก 3 ปีนับจากนี้ มาจากเหตุผลหลักคือในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีราคาไม่ดี มีกำลังผลิตในตลาดโลกล้นตลาดอยู่จำนวนมาก จึงไม่มีการขยายกำลังการผลิตใหม่เกิดขึ้น ขณะที่ในด้านของการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น สินค้าในกลุ่มพลาสติก มีการเติบโตต่อเนื่องในขณะที่กำลังผลิตคงที่ จึงทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเกิดช่องว่างของกำลังการผลิตที่เหลืออยู่แคบลง สุดท้ายทำให้ราคาสูงขึ้น และเริ่มมองถึงการลงทุนในระยะถัดไป

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้จะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ระยะเวลาวัฏจักรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีตัวแปรด้านต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น เรื่องของเทคโนโลยี ค่าเงิน ราคาวัตถุดิบ ยกตัวอย่างกรณีค่าเงิน เช่น กลุ่มพลาสติกจะซื้อเม็ดพลาสติกจากกลุ่มปิโตรเคมี ถ้าค่าเงินแข็งค่าจะมีการนำเข้ามาเพราะซื้อได้ถูกกว่า แต่จะกระทบผู้ผลิตเม็ดพลาสติกภายในประเทศ แต่ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงผู้ผลิตในประเทศก็จะได้อานิสงส์จากการส่งออกมากขึ้นพอแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินบาทก็จะได้กำไรมากขึ้น เป็นต้น