BUSINESS

IRPC เดินหน้าตั้งนิคมฯภาคใต้-ตะวันออก
POSTED ON 04/11/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ไออาร์พีซีอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย จังหวัดระยอง จำนวน 2,000 ไร่ รวมทั้งยังศึกษาพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวน 2,000 ไร่เช่นกัน เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมควบคู่กันไป โดยในช่วงแรกต้องการเห็นความชัดเจนในส่วนของ "นิคมฯ บ้านค่าย" ก่อน ซึ่งกำลังเตรียมจัดทำแผนบิสิเนสโมเดลว่าจะอยู่ในรูปแบบใด โดยมีทางเลือกทั้งไออาร์พีซีลงทุนเอง และจับมือกับพันธมิตรร่วมทุน คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ภายในต้นปีหน้า จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ เพื่อขออนุมัติโครงการและเงินลงทุนสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

 

สำหรับวงเงินลงทุนคาดว่าจะต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท แต่คงต้องรอความชัดเจนแผนธุรกิจออกมาก่อนว่าจะเป็นลักษณะร่วมทุนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีความกังวลถึงศักยภาพการพัฒนา เนื่องจากนิคมฯบ้านค่าย เมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมโรจนะก็ยังขายไม่หมด อีกทั้งนิคมฯบ้านค่ายก็ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น ด้านโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีความพร้อมเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งภายหลังผ่านการพิจารณาจากบอร์ดแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากนิคมฯดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว

 

ส่วนการพัฒนาที่ดินจำนวน 2,000 ไร่ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมนั้น กำลังศึกษาควบคู่ไปกับนิคมฯบ้านค่าย แต่ยังไม่มีความชัดเจนเร็วๆ นี้ เบื้องต้นคงเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน และอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2

 

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กลับมาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายอีกครั้ง หลังจากที่ทิ้งช่วงมานาน ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดึงเข้ามาลงทุนในนิคมฯนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยจะเน้นอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับแผนลงทุนปี 2558 บริษัทฯ เตรียมเงินลงทุนไว้กว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะถูกใช้ในโครงการ UHV และเตรียมขยายกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีน (พีพี) เพิ่มอีก 3 แสนตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.75แสนตันต่อปี คาดว่าจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2558 และจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ซึ่งการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีนเป็น 7.75 แสนตันต่อปี มีกำลังการผลิตเทียบเท่าผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ของไทย

 

ส่วนแผนร่วมทุนกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตั้งโรงงานผลิตพาราไซลีน (PX) 1 ล้านตัน มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอออกไป เนื่องจากสเปรดในช่วงนี้ยังมีราคาตกต่ำ

 

ส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ ยอมรับว่าในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฉพาะเดือน ต.ค.2557 ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงจากระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพราะซื้อน้ำมันดิบมาสต็อกไว้ แต่คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยประเมินไว้ที่ระดับ 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขึ้นอยู่กับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกจะตัดสินใจลดกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งหากปล่อยให้ราคาน้ำมันดิบยืนที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลานาน ก็จะกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมัน

 

ขณะที่แผนลงทุน 5 ปี (2557-2561) วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท บริษัทฯ ได้ใช้เงินในโครงการการลงทุนต่อเนื่องโครงการ (UHV) ภายใต้โครงการฟีนิกซ์เสร็จสิ้นภายในปี 2558 ไปบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อยอดฟีนิกซ์ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนก่อน โดยมี 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการผลิตพาราไซลีน 1.21 ล้านตันต่อปี และเบนซิน 3.72 แสนตันต่อปี, (2) โครงการผลิตโพลิโพรพิลีน คอมพาวด์ (PPC) 3 แสนตันต่อปี, (3) โครงการผลิตโพลิออล 1 แสนตันต่อปี, Z4X โครงการผลิตอะคริลิก แอซิด/ซูเปอร์ แอบซอฟเบนต์ โพลิเมอร์ (AA/SAP) กำลังการผลิต AA 1 แสนตันต่อปี และ SAP 8 หมื่นตันต่อปี, (5) โครงการ Bio-Hydrogenated Diesel (BHD)2 ล้านลิตรต่อเดือน และ (6) โครงการผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ (SM) 3.50 แสนตันต่อปี