BUSINESS

"ล็อกซเล่ย์" ทุ่มกว่า 900 ล้านบาท ลุยขยายธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม
POSTED ON 04/11/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) กล่าวว่า บริษัทฯ คาดว่ารายได้ในปี 2558 จะเติบโตราว 10% จากปีนี้ที่เชื่อว่าจะทำรายได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรปีหน้าก็น่าจะดีกว่าปีนี้ในทิศทางเดียวกับรายได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มองโอกาสทางธุรกิจในปีหน้าจะมีมากขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้าสายต่างๆ การขนส่งระบบราง หรือทีวีดิจิตอล ซึ่งบริษัทฯ ถือว่ามีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญที่จะเข้าไปรับงานในกลุ่มดังกล่าว

 

ขณะนี้บริษัทฯ ได้เตรียมจะเข้าประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณในโครงการรถไฟรางคู่ ประกอบกับ คาดว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/2558 เป็นต้นไป จากศักยภาพการบริหารประเทศของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังขึ้นอยู่กับสภาวะจากภายนอกประเทศด้วย

 

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลมีแนวคิดสนับสนุนให้เกิด Digital Economy ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง โดยในฐานะที่บริษัทฯ ก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของไอที บริษัทฯ ก็มีขีดความสามารถที่จะเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว

 

"ปี 2558 มองว่าภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เราก็มีความพร้อมที่จะเข้ารับงานภาครัฐ โดยเล็งเข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งเราก็หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของบริษัทฯ โดยคาดหวังรายได้เติบโตราว 10% จากปีนี้ที่น่าจะเติบโตใกล้เคียง 1.7 หมื่นล้านบาท" นางธงชัย กล่าว

 

ด้าน นายเฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ LOXLEY กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุน 900 ล้านบาทสำหรับขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจับมือกับพันธมิตรที่เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% จากปัจจุบันที่บริษัทฯ มีกำลังการผลิตอยู่ 8 เมกะวัตต์ โดยจะมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกันในเดือน พ.ย.2557 นี้

 

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายร่วมกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาสายพันธุ์สาหร่าย โดยอาศัยเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงทดแทน ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังอยู่ระหว่างการวัดระดับแรงลมหลังจากติดตั้งเสาแล้วใน 2 จังหวัด คือ นครราชสีมาและนครศรีธรรมราช คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้กลางปี 2558