BUSINESS

กลุ่มไทยฮั้วฯ เล็งผุดเฟส 2 นิคมยาง ที่ระยอง
POSTED ON 30/09/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทร เบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในเครือบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางต้นแบบแห่งนี้ที่มีพื้นที่ 2,300 ไร่ไปแล้ว 30-40% หลังจากที่มีการเซ็นสัญญาขายที่ดินให้บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ จำกัด จากจีน 138 ไร่ ตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ปีละ 10 ล้านเส้น คาดว่าไทร เบคก้าฯ จะลงทุนพัฒนาที่ดินโครงการทั้งหมดให้เสร็จภายในปีหน้า โดยไม่รวมมูลค่าที่ดินประมาณ 3,000 ล้านบาท

 

ขณะนี้มีนักลงทุนจะมาตั้งโรงงานผลิตยางแปรรูปเพิ่มอีก 3-4 ราย จากทั้งหมดที่รับได้ประมาณ 7-8 ราย โดยเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 นี้ จะมีกลุ่มนักลงทุนจีนมาเจรจาตั้งโรงงานเดือนละ 5-6 บริษัท ทั้งนี้ ทางนิคมฯ จะมีศูนย์วิจัยพัฒนายางและผลิตภัณฑ์ มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะ โรงพยาบาล รองรับนิคมฯ ที่จะจ้างงานพนักงานประมาณ 10,000 คน

 

หากปีหน้ายอดขายพื้นที่นิคมฯ เพิ่มเป็น 60-70% บริษัทฯ ก็จะขยายพื้นที่เฟส 2 เพิ่ม ซึ่งจะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางรวมทั้งหมด 5,000-6,000 ไร่ พร้อมกับยื่นขอรับการส่งเสริมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การขยายพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบรองรับ เนื่องจากกลุ่มไทยฮั้วยางพารามี 5 โรงงาน ทั้งโรงงานยางแท่ง โรงงานน้ำยางข้นและยางแผ่น ในภาคตะวันออก รวมกำลังการผลิต 5 แสนตัน และโรงงานยางแท่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 5-6 แสนตัน ในขณะที่โรงงานในเฟส 1 จะใช้ยางเป็นวัตถุดิบประมาณ 2 แสนตัน

 

"จีนเขาเจอปัญหาหลายประเทศเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ยาง รัฐวิสาหกิจที่แตกตัวเป็นบริษัทเอกชน จึงต้องหาทางออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมีรัฐบาลและธนาคารสนับสนุนสินเชื่อไปลงทุนเต็มที่ ไทยซึ่งมีวัตถุดิบมากและจะเป็นตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีหน้า จีนจึงสนใจมาลงทุนเพราะมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน ปัจจุบันจีนเก็บภาษีนำเข้ายางรถยนต์ 0% ในขณะที่เก็บภาษียางแผ่น 20% และน้ำยางข้น 10% จึงไม่มีปัญหาหากจะส่งยางรถยนต์เข้าไปจำหน่ายในจีน" ดร.หลักชัย กล่าว

 

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง 2 โรง โรงละ 120 เมกะวัตต์ มูลค่าโรงละประมาณ 5,000 ล้านบาท จ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโรงละประมาณ 90 เมกะวัตต์ ที่เหลือใช้ในนิคมอุตสาหกรรมยาง และผลิตไอน้ำป้อนโรงงานยาง 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการต่อท่อก๊าซจาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มาที่นิคมฯ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก่อน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเซ็น MOU กับ บริษัท จีอาร์อี คอมโพสิท จำกัด ในโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาและระบบน้ำเสียในนิคมฯ มูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าคอนเซ็ปต์นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้จำนวนมาก

 

ดร.หลักชัย กล่าวต่อว่า ในอนาคตหากรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ตกลงกันได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทยได้ บริษัทฯ จะลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโรงงานที่จะใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้แรงงานมากที่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เฟส 1 จำนวน 7,000 ไร่ และพร้อมจะเพิ่มพื้นที่นิคมฯ ได้ถึง 20,000-30,000 ไร่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่าเมืองหรือมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง นิคมฯ แห่งนี้ก็อยู่ไม่ไกล ห่างประมาณ 30 กิโลเมตร เท่านั้น