BUSINESS

ปตท. ร่วมกับ "ซาอุดีอารัมโก" ผุดโครงการโรงกลั่นปิโตรเคมี ในเวียดนาม
POSTED ON 16/09/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - "นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์" ประธานกรรมการ บริษัท นำทีมผู้บริหารจาก ปตท. และ ซาอุดิอารัมโก เข้าพบ "นายเหงียน เติ๊น สุง" นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และคณะ เพื่อส่งมอบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างโรงกลั่นปิโตรเคมี (Petrochemical Refinery Complex) แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ในบริเวณเขตเศรษฐกิจเญินเฮย (Nhon Hoi) จังหวัดบิงดิ่งห์ (BinhDinh) ต่อรัฐบาลเวียดนาม ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมทั้งยืนยันว่า ปตท.และซาอุดีอารัมโก บริษัทผลิตน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ยืนยันจะลงทุนในโครงการดังกล่าว

 

สำหรับโรงกลั่นน้ำมันที่ได้ศึกษาจะมีกำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 5 ล้านตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของเวียดนาม และรองรับความต้องการใช้น้ำมันในฝั่งตะวันออกของเอเชีย อย่างฟิลิปปินส์ จีนและญี่ปุ่น

 

นายอธิคม เติบศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว  ปตท.และ ซาอุดีอารัมโก จะถือหุ้นฝั่งละ 40% และอีก 20% เป็นในส่วนของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ทำข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเสนอภายใน 1 เดือน หลังจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามพิจารณาแล้ว จึงจะมีคำตอบให้กับ ปตท.ถึงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ และมาตรการส่งเสริมเกี่ยวกับการลงทุนของโครงการ โดยจากผลการศึกษาที่ออกมา คาดว่าจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เติบโตขึ้นอีกประมาณ 3-4% ซึ่งการดำเนินโครงการจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

 

ด้าน นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า โครงการโรงกลั่นปิโตรเคมีของเวียดนามจะไม่กระทบกับโครงการลงทุนโรงกลั่นปิโตรเคมีที่อินโดนีเซียที่ PTTGC จะร่วมลงทุนกับเปอร์ตามินา ของอินโดนีเซีย เพราะโครงการของ PTTGC มีวัตถุประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศของอินโดนีเซียเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ โครงการร่วมทุนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ ได้มีการศึกษาร่วมกับเปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย และได้ข้อสรุปเลือก "บาลองกัน" เป็นที่ตั้งโครงการลงทุนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ แบบครบวงจร โดยมีโรงกลั่นน้ำมันเดิมอยู่แล้ว 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน จะมีการลงทุนขยายโรงกลั่นเพิ่มขึ้นอีก 2.4 แสนบาร์เรลต่อวันรวมเป็น 3.6 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยนำผลพลอยได้คือ "แนฟธา" และ "ก๊าซแอลพีจี" มาต่อยอดในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 7-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากไม่รวมโรงกลั่นน้ำมันจะใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

"การลงทุนส่วนขยายโรงกลั่นน้ำมันอีก 2.4 แสนบาร์เรลต่อวัน บริษัทฯ ยังมีคงยืนนโยบายเดิมที่จะมุ่งเน้นลงทุนเฉพาะโครงการปิโตรเคมี ทำให้ต้องหาพันธมิตรใหม่เข้ามาลงทุนโรงกลั่น โดยจะชวนกลุ่ม ปตท. หรือ บมจ.ไทยออยล์ เข้ามาลงทุน เนื่องจากมีความชำนาญในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เชื่อว่าผลตอบแทนการลงทุน (IRR) โรงกลั่นน้ำมันค่อนข้างดี เพราะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งหมด" นายบวร กล่าว

 

ขณะที่ทางด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า ในช่วงปี 2558 บริษัทจะลงทุนโครงการโรวูม่าในประเทศโมซัมบิก ด้วยเงินลงทุนในส่วนของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ 8.5% หรือประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภายในระยะเวลา 5-6 ปี จึงจะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ หลังจากสำรวจเบื้องต้นแล้วพบว่า มีปริมาณสำรองอยู่ถึง 100 ล้านตัน โดยจะเริ่มจากการสร้างแท่นขุดเจาะ และ LNG Terminal กำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี

 

“ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG รองรับไว้แล้ว 5-6 ล้านตัน9jvปี โดยมีลูกค้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย รวมทั้งยังรอการเจรจากับลูกค้าใหญ่ในอินเดียด้วย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลโมซัมบิกออกกฎหมายรองรับโครงการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน” นายเทวินทร์ กล่าว