BUSINESS

YSS ทุ่มกว่า 300 ล้านบาท เตรียมผุดโรงงานแห่งที่ 2 ย่านเทพารักษ์
POSTED ON 10/09/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายภิญโญ พานิชเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายโช้กอัพ แบรนด์ YSS เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ ได้เตรียมงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ย่านเทพารักษ์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเดียวกันกับโรงงานแห่งแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 10 เดือน และจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมปีหน้า

 

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะผลิตโช้กและสปริงสำหรับรถยนต์ เนื่องจากกำลังการผลิตในโรงงานเดิมไม่เพียงพอ ขณะที่โรงงานเดิมจะยังคงผลิตโช้กและสปริงสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเมื่อมีการเพิ่มกำลังการผลิตจึงตั้งเป้ายอดขายเติบโตขึ้นถึง 50% ทั้งจากยอดขายในประเทศและตลาดส่งออก โดยมีสัดส่วนการขายในตลาดส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกา นิวซีแลนด์ และอื่นๆ ในสัดส่วน 60-65% และจำหน่ายในประเทศ 35-40% โดยแบ่งเป็นสัดส่วนสินค้ากลุ่มรถจักรยานยนต์ทั่วไป 70% บิ๊กไบก์ 20% และรถยนต์อีก 10% ซึ่งคาดว่าจากการเปิดโรงงานแห่งใหม่จะทำให้สัดส่วนยอดขายโช้กอัพและสปริงสำหรับรถยนต์จะเติบโตมากขึ้น

 

สำหรับยอดขายในประเทศนั้นช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังมียอดขายเติบโตที่ 5% สวนทางกับตลาดรถจักรยานยนต์ที่ในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายหดตัวกว่า 20% เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการแนะนำสินค้าใหม่ พร้อมกับร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายกว่า 1,200 ราย ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้านมากขึ้น แต่ในปีนี้ภาพรวมตลาดในช่วงเวลาที่เหลือของปีอาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก แม้บรรยากาศจะดีขึ้น แต่ลูกค้าก็ไม่ได้มีกำลังซื้อสูง คาดว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

 

ส่วนตลาดส่งออกนั้น จากนโยบายเดินหน้าเน้นขยายตลาดสินค้าสำหรับบิ๊กไบก์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับผลตอบรับจากลูกค้าทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นอย่างดี ส่งผลให้ยอดขายเติบโตกว่า 25% และการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เออีซีในปีหน้านั้น บริษัทฯ ก็มั่นใจว่าจะช่วยขยายธุรกิจได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีภาษีนำเข้าที่คู่ค้าในอาเซียนต้องเสียอยู่ที่ 6% และเมื่อภาษีเป็น 0% ก็ช่วยทำให้แข่งขันได้มากขึ้น

 

"โดยส่วนตัวเราไม่ได้กังวลว่าจะมีคู่แข่งรายอื่นๆ เข้ามาทำตลาดในไทย เนื่องจากปัจจุบัน YSS มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ในช่วง 7 เดือนแรกตลาดค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียประสบปัญหาน้ำท่วมในเมืองจาการ์ตา มีภัยธรรมชาติ และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งไประยะหนึ่ง" นายภิญโญ กล่าว

 

ส่วนประเด็นที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อรับมือกับเออี ซี คือการขอความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนรายอื่นๆ ในการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลป้องกันสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มีผู้ผลิตบางประเทศทำสินค้าปลอมออกมา ซึ่งทำให้ลูกค้าที่ไม่มีความรู้ซื้อสินค้าไปใช้ และพบสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และส่งผลต่อความมั่นใจในคุณภาพสินค้า