BUSINESS

"IRPC" ชงบอร์ดอนุมัติ 6.4 พันล้านบาท ขยายกำลังผลิตโพลิโพรพิลีน
POSTED ON 09/09/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (IRPC) เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2557 นี้ทาง IRPC เตรียมจะนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาการลงทุนขยายกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีน (Polypropylene-PP) 320,000 ตัน ลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,400 ล้านบาท และได้เปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท.โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มาเป็นลงทุนเองทั้งหมด

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ศึกษาร่วมกันที่จะลงทุนขยายการผลิตพรอพพิลีน ปรากฏว่า ขณะนี้ราคาพรอพพิลีนในตลาดโลกลดลงมาก รวมถึงมีโรงงานปิโตรเคมีที่ผลิตพรอพพิลีนเกิดใหม่ในประเทศจีนหลายโรง ใช้วิธีนำเข้าวัตถุดิบคือโพรเพน (C3) จากเชลล์แก๊ส ประเทศสหรัฐฯ ทำให้กระทบต่อราคาพรอพพิลีนโดยตรง ในขณะที่ราคาโพลิโพรพิลีนกลับมีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้น

 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจจึงต้องตัดสินใจเร่งการลงทุนเอง หากบอร์ดอนุมัติให้ลงทุนจะดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตโพลิพรอพพิลีนดังกล่าวให้เสร็จภายใน 2 ปี และสำหรับระยะยาวยังมีแผนที่จะลงทุนขยายกำลังผลิตพาราไซลีน (Para-xylene หรือ PX) เพิ่มเป็น 1.2 ล้านตันต่อปี (จากปัจจุบันที่ 327,000 ตัน) ลงทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนร่วมกับ PTTGC โดยสามารถรับวัตถุดิบจากโครงการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) ที่จะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2558 นี้ ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ในสายอะโรเมติกส์ได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะหารือร่วมกับ PTTGC ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เพื่อตัดสินใจร่วมกันว่าจะลงทุนในโครงการนี้หรือไม่

 

"ตัวโพลิพรอพพิลีนต้องเร่งผลิตเร็วขึ้น เพราะหากช้าเราจะแข่งขันไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามองเห็นกำไรดีแล้วจะลงทุนเอง เพียงแต่ไออาร์พีซีอยู่ในสายการผลิต PP อยู่แล้ว ซึ่งหากลงทุนได้ตามแผนสเกลในสายโพลิพรอพพิลีนจะขยายใหญ่ขึ้นเป็น 775,000 ตันต่อปี" นายสุกฤตย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ นายสุกฤตย์ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังจากที่โครงการ UHV ที่ลงทุน 32,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2558 จะช่วยสร้างกำไร (Margin) เพิ่มขึ้นที่ 2-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 4,000-8,000 ล้านบาท ทำให้ไออาร์พีซีมีความแข็งแกร่งและอาจจะมีการเดินหน้าตามแผนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่อาจจะเริ่มพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างไออาร์พีซีกับ PTTGC ซึ่งจะพิจารณาจากมูลค่าหุ้นของทั้ง 2 บริษัทต้องอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน และทั้ง 2 บริษัทต้องสามารถเชื่อมโยงการผลิต (Synergy) ที่มากพอ ทั้งนี้ การควบรวมทั้งสองบริษัทยังคงมีข้อจำกัดในประเด็นที่ตั้งโรงงานที่ห่างกันประมาณ 100 กิโลเมตร

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีท่อเชื่อมโยงการผลิตในรูปแบบ Multi Product Pipeline เพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ เช่น นำผลิตภัณฑ์ที่มีไฮซัลเฟอร์ค่อนข้างสูงไปเข้ากระบวนการเพื่อให้เป็นน้ำมันยูโร 4 และน้ำมันเครื่องบิน (Jet)

 

การควบรวมกิจการที่ผ่านมาของบริษัทในเครือ ปตท. ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จและสร้างความแข็งแกร่งให้มากขึ้น โดยเฉพาะ PTTGC ที่แข็งแกร่งมากที่มีธุรกิจปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ เมื่อมีบางผลิตภัณฑ์ราคาตกจะมีผลิตภัณฑ์ที่ราคาดีเข้ามาเสริม

 

สำหรับเป้าหมายในการขยายตัวของไออาร์พีซีนั้น นายสุกฤตย์กล่าวเสริมว่า ในปี 2555 นั้น ไออาร์พีซีขาดทุนถึง 7,000 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2556 สามารถทำกำไรได้ 800 กว่าล้านบาท ฉะนั้น สำหรับปีนี้ในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไร 500 กว่าล้านแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด แต่ที่มั่นใจคือปี 2558 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ จะขยายตัวในแต่ละปีที่ร้อยละ 10 เนื่องจากการลงทุนในโครงการฟีนิกซ์ (Phoenix) แล้วเสร็จเต็มโครงการตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตขึ้นไปเป็น 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากในปีนี้ที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 180,000 บาร์เรล/วัน และเมื่อทุกโครงการตามแผนแล้วเสร็จคาดว่าในปี 2560 ไออาร์พีซีจะมีกำไรเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาทได้

 

ตอนนี้ PP ราคา 1,600 เหรียญสหรัฐต่อตัน มีส่วนต่างเมื่อเทียบแนฟทา (Naphtha) อยู่ที่ 600-700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาพาราไซลีนอยู่ที่ 1,280 เหรียญสหรัฐต่อตัน มีส่วนต่างราคาเมื่อเทียบกับราคาแนฟทาอยู่ที่ 890 เหรียญสหรัฐต่อตัน