BUSINESS

ซีพีเอฟ เผย ยอดส่งออกไปญี่ปุ่นโต หลังร่วมทุนกับอิโตชูโต
POSTED ON 26/08/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจการค้าในประเทศ บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของของซีพีเอฟ เทรดดิ้ง ว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะเติบโตจากยอดขายภายในประเทศ ดังนั้น จากนี้ไปคงเดินหน้าหาพันธมิตรต่างชาติควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และสร้างรายได้ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

 

ล่าสุด ซีพีเอฟได้มีการเข้าไปร่วมทุนแล้วใน 13 ประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อย่างที่จีนและเวียดนาม บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมทุนในบริษัท ซีพี โภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีพี) ถึง 73% รวมถึงการเจรจาร่วมทุนกับอิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าน่าจะเจรจาแล้วเสร็จในวันที่ 16 กันยายน 2557 นี้ โดยความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟกับอิโตชูถือเป็นเรื่องใหญ่ของบริษัทฯ เนื่องจากอิโตชูถือเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มการค้าอาหาร โดยอิโตชูจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ซี.พี.โภคภัณฑ์ฯ (ซีพีพี) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงในสัดส่วน 25%

 

"สำหรับการนำสินค้าเข้าไปวางขายในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะญี่ปุ่นเองเขาเข้มงวดเรื่องคุณภาพอาหารมาก ดังนั้น การที่ร่วมทุนกับอิโตชูจะทำให้เราสามารถเอาสินค้าของเราไปวางขายในห้างค้าปลีกได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลังจากดีลเสร็จ เราจะมีการเซตทีมงานขึ้นมาทำเรื่องแผนต่างๆไม่ว่าจะเป็นแผนการกระจายสินค้า การขนส่ง  ยอมรับว่าทุกวันนี้มีคนมาขอให้เราเข้าไปซื้อกิจการเยอะมาก ที่ผ่านมาบริษัทมีการเข้าไปซื้อกิจการในเบลเยียม รัสเซีย ญี่ปุ่น เนื่องจากทุกวันนี้แบรนด์เราโตมากขึ้น การจะทำตลาดในต่างประเทศอย่างเดียวก็คงไม่ได้ และการเข้าไปซื้อกิจการทำให้เราโตเร็วขึ้น" นายประสิทธิ์ กล่าว

 

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีรายได้จากยอดขายในประเทศเติบโตประมาณ 12% รายได้จากเงินลงทุนเติบโตประมาณ 18% ส่วนรายได้จากการส่งออกยังติดลบ 10% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ติดลบมาตั้งแต่ปี 2555 หลังจากกุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าหลักของไทยและของบริษัทยังประสบปัญหาเรื่องโรคตายด่วน (EMS)

 

อย่างไรก็ดีจากนี้ไปจนถึงปี 2558 ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟยังคงสดใส จากปัญหาความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหารของต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้ามีความกังวลด้านคุณภาพสินค้าและได้หันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีการสั่งซื้อสินค้าของบริษัทเข้ามามากขึ้น

 

ทั้งนี้ คาดผลประกอบการในปี 2557 ของซีพีเอฟจะขยายตัวประมาณ 15% หรือมีรายได้รวมทั้งปีประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2558 คาดรายได้รวมจะขยายตัวจากปี 2557 ประมาณ 16-17% หรือจะมีรายได้รวมประมาณ 4.7-4.8 แสนล้านบาท จากรายได้ 3 ส่วน คือ จากยอดขายในประเทศ จากการส่งออกสินค้า และจากการลงทุนในต่างประเทศ โดยในปี 2558 คาดรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เนื่องจากแต่ละประเทศให้ความเชื่อมั่นต่อสินค้าซีพีเอฟมากขึ้น ส่วนรายได้ในประเทศคาดจะเติบโต 10% และรายได้จากการส่งออกคาดจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

 

"อุปสรรคของบริษัทฯ ในขณะนี้มีเพียงเรื่องเดียวคือ กุ้งที่วัตถุดิบไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องไข้หวัดนกหรือเรื่องตลาดไม่มีปัญหา เพราะผู้บริโภคปรับตัวและรู้วิธีการจัดการกับปัญหาและผู้ประกอบการเองก็รู้วิธีการจัดการกับโรคไข้หวัดนก ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการตัดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ออกไป เช่น การรับเป็นออร์เดอร์บริษัทก็ยกเลิก แต่จะเน้นการส่งออกไปเลย เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าใช้แรงงานคน เพื่อลดต้นทุนประกอบกับแรงงานนับวันหายากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในปีหน้าการส่งออกกุ้งน่าจะกลับมาโตไม่ติดลบ เพราะจากปีนี้คาดจะยังติดลบ 10% โดยบริษัทฯ มีแผนลงทุนเครื่องจักรเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯ ลงทุนเครื่องจักรใหม่ไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท" นายประสิทธิ์ กล่าว