BUSINESS

UAC Global ปรับทิศธุรกิจ มุ่งผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์
POSTED ON 07/08/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ว่า จากที่บริษัทฯ ได้ขยายงานเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนโดยมีแผนจะลงทุนโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (ซีบีจี) ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ จำนวน 20 แห่ง ภายในปี 2558 ด้วยเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งแรก ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 6 ตันต่อวัน ส่งให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปจำหน่ายในสถานีก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมานั้น

 

แต่จากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายของภาครัฐ ที่ยังไม่มีการประกาศปรับราคาลอยตัวก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไป จากปัจจุบันราคาขายปลีกอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้การผลิตก๊าซซีบีจีที่จำหน่ายให้ ปตท.ยังไม่ได้รับผลตอบแทนที่กลับมาดีมากนัก

 

ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องปรับทิศทางธุรกิจใหม่ โดยจะใช้ก๊าซชีวภาพที่หมักได้จากหญ้าเนเปียร์ไปผลิตเป็นไฟฟ้าแทนทั้ง 20 โครงการ ขนาดกำลังโครงการละ 1.5 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไม่แตกต่างจากโครงการเดิมประมาณ 150 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าผลิตเป็นซีบีจี เนื่องจากภาครัฐให้ค่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder 30 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วในพื้นที่ 7 แห่ง อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 3 แห่ง ลำปาง 2 แห่ง และจังหวัดขอนแก่น 2 แห่ง โดย 2 แห่งแรกที่เชียงใหม่จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และที่เหลือจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2558-2559

 

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะมีผลพลอยได้จากกากหญ้าเนเปียร์ที่เกิดจากการหมัก ซึ่งปัจจุบันโรงงานซีบีจี จะนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ แต่สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 20 แห่งนี้จะนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ด เพื่อส่งจำหน่ายต่างประเทศ เนื่องจากได้ราคาดี ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4 พันบาทต่อตัน และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 20 ล้านบาทต่อแห่ง ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 30 ตันต่อวัน รวมทั้ง 20 แห่ง จะทำให้มีเชื้อเพลิงอัดเม็ดประมาณ 600 ตันต่อวันหรือ 1.8 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากที่จะทำการส่งออกได้

 

อีกทั้งบริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ 2 แห่ง ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขนาดแห่งละ 8 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนแห่งละ 900-1,000 ล้านบาท ส่วนจะดำเนินการได้หรือไม่ จะต้องดูนโยบายการส่งเสริมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยว่าจะมีการผลักดันในเรื่องนี้อย่างไรโดยเฉพาะค่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม 3.50 บาทต่อหน่วย จะมีการแก้ไขเอื้อให้เกิด

 

นายชัชพลกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยากจะให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งพิจารณาสัญญารับซื้อไฟฟ้าหรือพีพีเอทั้ง 20 โครงการ เนื่องจากได้มีการเสนอเรื่องไปตั้งแต่ปลายปี 2556 ที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาทางการเมือง ทำให้ไม่มีการประชุมพิจารณาอนุมัติสัญญาพีพีเอออกมา ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็อยากให้หน่วยงานดังกล่าวเร่งพิจารณาในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อการลงทุนมากขึ้น

 

อีกทั้งมองว่าการที่กระทรวงพลังงานต้องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์จำนวน 3 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2564 นั้น ยูเอซีถือเป็นบริษัทแรกที่ได้เข้าดำเนินการนำร่องในเรื่องนี้ก่อน แม้จะได้รับ Adder เพียง 30 สตางค์ต่อหน่วยก็ตาม แต่หากภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนนำหลักการ สนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริงหรือ Feed in Tariff  ซึ่งควรจะสูงกว่า  5 บาทต่อหน่วย มาใช้ ก็สมควรจะปรับในส่วนนี้ให้กับบริษัทด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายนั้น และยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับซื้อหญ้าเนเปียร์จากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นได้ด้วย จากปัจจุบันรับซื้อที่ 300 บาทต่อตัน เท่านั้น

 

ส่วนผลประกอบการในปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.2 พันล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ประมาณ 80 % มาจากธุรกิจหลัก และในส่วนของพลังงานทดแทน 20% แต่ในปีหน้า เมื่อการผลิตไฟฟ้าทั้ง 20 โครงการทยอยเข้ามา จะทำให้รายได้จากธุรกิจหลักลดลงมาเหลือ 60% และพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 40% และปี 2559 รายได้จากพลังงานทดแทนจะเพิ่มเป็น 60 % และจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่ได้ทิ้งธุรกิจก๊าซซีบีจี เพราะยังมองเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งก๊าซเอ็นจีวีในระยะทางไกลได้ และเป็นการกระจายพื้นที่ให้ประชาชนใช้เอ็นจีวีได้อย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้รอเพียงการประกาศลอยตัวราคาเอ็นจีวีขึ้นไป บริษัทฯ ก็พร้อมลงทุนได้ทันที เพราะวัตถุดิบหญ้าเนเปียร์มีความพร้อมจากการส่งเสริมเกษตรกรและการเช่าพื้นที่เพาะปลูกของบริษัทฯ เอง