BUSINESS

SCG ขยายลงทุน ผุดโรงปูน 4 แห่งในประเทศอาเซียน
POSTED ON 07/08/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เอสซีจี" เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทขยายการลงทุนในประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนศูนย์ค้าวัสดุขนาดใหญ่แบบบิ๊กบ็อกซ์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปศึกษาตลาดที่สหภาพเมียนมาร์ ร่วมกับ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ พาร์ตเนอร์ที่เอสซีจีเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มตระกูลสุริยวนากุล ผ่านทางบริษัทในเครือ และมีแนวโน้มจะเห็นการลงทุนในปีหน้า แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเอสซีจีได้เปิดโชว์รูมวัสดุที่ประเทศเวียดนาม ส่วนสหภาพเมียนมาร์แบรนด์ตราช้างมีส่วนแบ่งถึง 40-50% และมีแผนรีแบรนด์สินค้าจากตราช้างเป็นเอสซีจีเพื่อง่ายต่อการจดจำ นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ 4 แห่ง ได้แก่ กัมพูชา 1 แห่ง อินโดนีเซีย (โรงงานที่ 2) 1 แห่ง จะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2558 และสหภาพเมียนมาร์ 1 แห่ง สปป.ลาว 1 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2559 และอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานอิฐมวลเบาที่อินโดนีเซีย โดย ณ 30 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสินทรัพย์ในอาเซียนรวม 76,811 ล้านบาท หรือ 17% ของสินทรัพย์ทั้งบริษัทฯ และมียอดขายในอาเซียนช่วงครึ่งปีแรก 21,361 ล้านบาท จึงต้องสร้างช่องทางจำหน่ายในแต่ละประเทศไว้รองรับ

 

นายกานต์ กล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีผลต่อเนื่องถึงสิ้นไตรมาส 3 แต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 และฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2558 เพราะภาครัฐน่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และเริ่มเห็นการลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบอร์ดบีโอไอ

 

ขณะที่ภาพรวมปริมาณการใช้ซีเมนต์ไตรมาสแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% ไตรมาส 2 ทรงตัว ไตรมาส 3 คาดว่าจะติดลบ 2-3% เนื่องจากตัวเลขปีที่ผ่านมาฐานค่อนข้างกว้าง ส่วนไตรมาส 4 ประเมินว่าจะยังทรงตัว รวมแล้วภาพรวมปริมาณการใช้ซีเมนต์ปี 2557 จะทรงตัว ขณะที่ภาพรวมวัสดุก่อสร้างประเมินทั้งปีจะติดลบ

 

ดังนั้น การปรับตัวของเอสซีจีช่วงครึ่งปีหลังยังคงมุ่งส่งออกสินค้าปูนซีเมนต์ แม้ว่าอัตรากำไรจะต่ำกว่าที่ขายในประเทศเนื่องจากเป็นสินค้าหนักมีต้นทุนค่าขนส่งสูง โดยตั้งเป้าหมายทั้งปีส่งออกให้ได้ 5 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมาส่งออก 4 ล้านตัน ช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมามียอดส่งออก 2.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 แสนตัน ตลาดหลักคือ กัมพูชา สหภาพเมียนมาร์ ส่วนการอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า 10 สายทาง คาดว่าจะเริ่มส่งผลต่อการใช้ซีเมนต์ในอีก 12-13 เดือนข้างหน้า

 

สำหรับผลประกอบการบริษัทช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมามียอดขายรวม 124,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17% มีกำไรสุทธิ 8,532 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% เนื่องจากความต้องการวัสดุก่อสร้างในประเทศชะลอตัว จึงต้องผลักดันการส่งออกซึ่งได้กำไรต่ำกว่าการขายในประเทศ ในจำนวนนี้แยกเป็นยอดขายจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 46,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ธุรกิจเคมิคอลส์ 64,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24% และธุรกิจกระดาษ 15,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11%

 

ขณะที่ยอดขายรวม 6 เดือนแรกอยู่ที่ 246,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% แต่มีกำไรสุทธิ 16,913 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ล่าสุดได้ปรับเพิ่มประมาณการยอดขายทั้งปีจาก 476,000 ล้านบาท เป็น 486,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 12%